The Power of Ranger #2 : ชีวพัฒน์ อดุลย์ศักดิ์ศรี บุคคลภายนอกปฏิบัติงานให้ส่วนราชการ ประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

The Power of Ranger #2 : ชีวพัฒน์ อดุลย์ศักดิ์ศรี บุคคลภายนอกปฏิบัติงานให้ส่วนราชการ ประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

กลับมาอีกครั้งกับ The Power of Ranger #2

กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ได้มีพื้นที่ในการโชว์ศักยภาพด้านต่างๆ ที่นอกเหนือจากผลงานและความสามารถด้านการปฏิบัติหน้าที่ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ โดยในครั้งนี้เราได้คัดสรรค์ผลงานด้านการภาพวาดของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจาก 3 พื้นที่ มาให้ได้ชมกันตลอดทั้งเดือนกรกฏาคมนี้

สำหรับสัปดาห์นี้ เราขอนำทุกท่านไปรู้จักกับศิลปินพิทักษ์ป่าคนสุดท้ายกับ กัส : ชีวพัฒน์ อดุลย์ศักดิ์ศรี อายุ 27 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง สาขาปฏิมากรรม ปัจจุบันปฏิบัติงานประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

กัสเริ่มต้นเส้นทางพิทักษ์ป่าด้วยการเป็นอาสาสมัคร… เมื่อครั้งเรียนจบกัสได้มีโอกาสเข้ามาทำกิจกรรมอาสาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอยู่หลายครั้ง โดยเป็นกิจกรรมสอนศิลปะพร้อมกับสอดแทรกเรื่อราวของการสื่อความหมายธรรมชาติ ให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ซึ่งต่อมา ทางเขตฯ ได้มีการเปิดรับเจ้าหน้าที่ฯในโครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว กัส จึงสมัครเข้ามาทำงาน จนเมื่อหมดโครงการฯ แล้วจึงทำงานต่อด้วยงบปกติของทางเขตฯ

จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลาร่วม 2 ปี กับการรับหน้าที่เป็นแนวหน้าในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และเมื่อผู้เขียนได้พูดคุยกับกัสถึงงานต่างๆ ที่ผ่านมา ปรากฏว่างานหลายชิ้นที่เราได้เห็นผ่านตามานั้นเป็นผลงานการออกแบบของกัส ซึ่งผลงานหนึ่งที่ดูโดดเด่นและสดใสมากๆ คือ ภาพวาดลายนกเงือก 13 ชนิด บนผนังอาคารภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (อาคารร้านค้าสวัสดิการเดิม ปัจจุบันเป็นสำนักงานฯ) อยู่ระหว่างทางไปอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร หากใครมีโอกาสได้เข้าไปเยือน ก็อย่าลืมแวะไปชมผลงานของกัสกันได้

หรือหากใครเป็นสายช้อป ก็ลองเข้าไปดูผลงานการออกแบบของกัส ในรูปแบบของที่ระลึกในเพจ เต็งรังห้วยขาแข้ง ซึ่งรายได้จากส่วนนี้จะเข้าร้านค้าสวัสดิการของทางเขตฯโดยตรง เรียกได้ว่าได้เป็นเจ้าของของที่ระลึกน่ารักน่าใช้แล้วยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ฯ อีกด้วย

อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่กัสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวาดภาพประกอบคือ หนังสือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในพื้นที่มรดกโลกธรรมชาติป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง โดย ดร.โดม ประทุมทอง และ อมรพงษ์ คล้ายเพชร ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ออกมาในช่วงไม่นานมานี้ โดยหนังสือเล่มนี้นับเป็นตำราที่สมบูรณ์แบบทั้งด้านของเนื้อหาและองค์ประกอบรูปเล่มที่สวยงามน่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนงานด้านการสื่อความหมายธรรมชาติกัสเองก็เป็นหนึ่งในทีมงานในการออกไปให้ความรู้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งภายหลังจากสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลายลง ทางเขตฯ ได้มีกิจกรรมออกไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ก็สับเปลี่ยนกันไปเพื่อความสนุกและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ศิลปะผ่านงานปั้น ภาพพิมพ์ วาดภาพ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กๆ เกิดความสนุกสนานระหว่างการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยให้เด็กๆ ได้เห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ดอกไม้ นก และสัตว์ป่าแต่ละชนิดมากขึ้นด้วย

นอกเหนือจากงานด้านประชาสัมพันธ์แล้ว บางครั้งกัสเองก็มีโอกาสได้ทำงานด้านอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการสำรวจสัตว์ป่า หรืองานติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ซึ่งทำงานร่วมกับทีมลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือร่วมกับคณะนักวิจัยบ้างในบางโอกาส

ส่วนตอนนี้ขอนำทุกท่านชมผลงานบางส่วนของ กัส ชีวพัฒน์ อดุลย์ศักดิ์ศร ศิลปินพิทักษ์ป่าแห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้งกันได้เลย

เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ 
อีเห็น 
ภาพวาดลายเส้น สืบ นาคะเสถียร             
ลิ่นชวา
ควายป่า
นกกางเขน
นกเขียวคราม
นกปรอดเหลืองหัวจุก 
นกหัวขวานใหญ่สีดำ 
อีกา 
โครงร่างนกเงือก 13 ชนิด
กัสกับภาพวาดนกเงือก 13 ชนิด บนผนังอาคารภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ผลงานการวาดภาพประกอบของกัสใน หนังสือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในพื้นที่มรดกโลกธรรมชาติป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส