เหตุผลในการคัดค้าน ‘อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด’ (พิมพ์ครั้งที่ 2 เพิ่มเนื้อหา)

เหตุผลในการคัดค้าน ‘อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด’ (พิมพ์ครั้งที่ 2 เพิ่มเนื้อหา)

ดาวน์โหลด PDF หรือ แอพลิเคชัน meb

เอกสารในการคัดค้านโครงการ ‘อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด’ จังหวัดจันทบุรี เป็นเอกสารที่องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์รวมถึงนักวิชาการผู้มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงในพื้นที่และเหตุผลตามหลักวิชาการ จากการเก็บข้อมูลในอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการศึกษาเอกสารรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง(EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร เมษายน 2563 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อทวนสอบข้อมูลโดยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละสาขาอาชีพ เพราะไม่เห็นด้วยที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมจะกินพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จำนวน 7,097 ไร่

อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เป็นส่วนหนึ่งของป่ารอยต่อห้าจังหวัด ภาคตะวันออก อยู่ตรงกลางระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ซึ่งเป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศที่สำคัญ (corridor area) และถือเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ คอยเชื่อมพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 2 แห่ง ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด 2 อันดับแรกของป่ารอยต่อห้าจังหวัด ให้เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัย และเพิ่มพูนประชากรของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใช้พื้นที่ จากผลการศึกษาของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 3 แห่ง เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกมีแนวเขตเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน เหมาะสมในการเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญในภาคตะวันออก แม้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น มีพื้นที่ขนาดเล็กเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่มป่าตะวันออกก็ตาม

นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มากถึง 7 ชนิด และแต่ละชนิดถือได้ว่ามีค่าความชุกชุมค่อนข้างสูง ดังนั้นการที่ผืนป่ามีความต่อเนื่องกันเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ จะก่อให้เกิดประโยชน์นานับประการต่อประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก ดังนั้น การเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ถือเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว และอาจสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ดาวน์โหลด

แนวคิดการก่อสร้างโครงการ ‘อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด’ เกิดขึ้นในปี 2535 ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดภัยแล้งและไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ เกษตรกรจังหวัดจันทบุรีได้มีการร้องขอให้กรมชลประทานพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในเวลาที่เกิดความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนาน แต่ปัจจุบัน พ.ศ. 2564 ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนดได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วทั้งหมด 3 แห่ง ความจุรวม 209 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร (สร้างเสร็จแล้ว) 2.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 3. อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.70 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 2 และ 3 กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

หากต้องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำคลองวังโตนด ทั้งในภาคการเกษตร การรักษาสมดุลระบบนิเวศท้ายน้ำ รวมถึงน้ำในการอุปโภคบริโภค ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม อ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่งในพื้นที่น่าจะมีปริมาณที่มากเพียงพอต่อประชาชนทั้ง ลุ่มน้ำวังโตนดในจังหวัดจันทบุรีแล้ว

ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, 2562 ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก มากถึง 12,405 โครงการ ความจุ 79,753 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 37,020,175 ไร่ หากมีระบบการกระจายน้ำที่ทั่วถึงและมีธรรมาภิบาลจะสามารถจัดสรรและกระจายน้ำได้อย่างเพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำ

นอกจากนี้ข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์แสดงผลออกมาชัดเจนว่าหากจะส่งน้ำส่วนเกินไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐควรคำนวณและจัดอันดับความต้องการใช้น้ำ​ และดำเนินการสื่อสารว่าน้ำไม่ใช่ของฟรีและมีราคาที่ต้องจ่ายอยู่เสมอ นอกจากนี้ควรมีการทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง เล็ก พัฒนาให้เต็มตามศักยภาพและจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดที่กำลังคุกคามผืนป่าอนุรักษ์ของไทย เพื่อให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าอยู่ได้ อย่างยั่งยืน เพราะไม่มีป่าไม่มีน้ำ