ถ้าไปทะเลแล้วไม่ได้ลิ้มลอง ‘อาหารทะเล’ สักมื้อ หรือไม่ซื้อของฝากจากทะเลติดไม้ติดมือกลับไป ก็คงกล่าวได้ว่าเรามาไม่ถึงที่ จะมีที่ไหนขายอาหารทะเลสดได้เท่าร้านอาหารชายฝั่งทะเล กุ้งย่างหอม ๆ บนเตาถ่าน หรือนำไปแช่น้ำปลาก็แซ่บ หอยลวกจิ้มแซ่บ ๆ ปูไข่ดองกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด หรือจะเอาสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นยำทะเลสุดฮิตก็น่ากิน
‘อาหารทะเล’ ถือเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดฮิตที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน เพราะเรามีพื้นที่ที่ติดกับทะเลทำให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างง่ายดาย
แต่การบริโภคสัตว์ทะเลบางชนิดกลับกำลังสร้างผลกระทบอย่างเงียบๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง เหมือนโรคร้ายที่แอบซ่อนอยู่ และเมื่อถึงวันที่มันพังทลาย กว่าเราจะรู้ตัวก็อาจจะสายเกินไป
แล้วมีสัตว์ทะเลชนิดใดบ้างที่เรากำลังบริโภควัยอ่อนของมันอยู่
ปลาข้าวสาร หรือปลาที่เรารู้จักกันในชื่อ ปลามะลิ ปลาสายไหม ปลากล้วยฯ ตามแต่ละท้องถิ่นจะเรียก และมักถูกบอกว่าเป็นพันธุ์ปลาขนาดเล็ก ด้วยความที่ตัวเล็กๆ ใสๆ กองรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก คนทั่วไปจึงเรียกว่าปลาข้าวสาร แต่ในความจริงแล้ว ปลาข้าวสาร คือตัวอ่อนของปลากะตักนั่นเอง ปลากะตักเป็นอาหารของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่จับปลากะตัก (ปลาข้าวสาร) มากิน ย่อมส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลอย่างแน่นอน
ปลาทูแก้ว ลูกปลาทูตากแห้ง ตัวเล็กโรยด้วยงาดูน่ากิน ของฝากยอดฮิต ที่อัดแน่นไปด้วยจำนวนลูกปลาทูหลายพันตัว หากปล่อยให้ลูกปลาทูได้เติบโต จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล
หรือแม้กระทั่งปูตัวเล็ก ๆ ที่เราเห็นในส้มตำเองก็เช่นกัน ซึ่งตัวที่น่าหม่ำขนาดกระดอง (ความกว้าง) ควรเกิน 12 เซนติเมตรขึ้นไป และยังมีสัตว์น้ำวัยอ่อนอีกมากมายที่จับขึ้นมาก่อนถึงเวลาอันควร และยังไม่รวมถึงการบริโภคสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่
การรับประทานสัตว์น้ำวัยอ่อน เท่ากับตัดโอกาสที่พวกมันจะเติบโตมาเป็นอาหารให้แก่สัตว์อีกหลายชนิด ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย เพราะเมื่อจำนวนสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลง ผู้บริโภคลำดับถัดไปก็จะลดลงตามไปด้วยเป็นห่วงโซ่ เท่ากับว่าเรากำลังทำลายฐานรากของระบบนิเวศทางทะเล การที่ชื่อเรียกสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำขนาดโตเต็มวัยแตกต่างกัน เราคงไม่อาจบอกให้หยุดซื้อได้ในทันที (แต่ถ้าทำได้ก็ถือว่าดีมาก) ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นสัตว์คนละชนิดกัน ดังนั้นการรู้ถึงที่มาที่ไปของอาหารทะเลนั้น มีส่วนช่วยให้เราสามารถเลือกการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ สนับสนุนการทำประมงที่ยั่งยืนและไม่ทำลายระบบนิเวศ แม้กระทั่งการลดการบริโภคลง เพราะการบริโภคเพียงเล็กๆ สามารถส่งผลได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”
รู้หรือไม่ว่า ? มีแคมเปญร่วมลงชื่อ หยุดซื้อ หยุดจับ หยุดกินสัตว์น้ำวัยอ่อน และขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” บน change.org ตามลิงค์ที่แปะไว้ด้านล่างนี้ เพื่อเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่ให้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายมาตรา 57 “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” ร่วมลงชื่อที่ https://www.change.org/seafoodisourfood
เรื่อง อัครวิชญ์ จันทร์พูล
ภาพถ่าย ดร.ชวลิต วิทยานนท์
ภาพประกอบ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์
อ้างอิง
- จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าทะเลไม่มีสัตว์น้ำวัยอ่อน?
- ประมงไทยไม่มูฟออน ตอนที่ 1 ปลาตัวเล็กกับรูรั่วของอ่าวไทย
- จาก’เล สู่จาน A Guide to Sustainable Seafood โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เปิดเมนูสัตว์น้ำวัยอ่อน : จริงหรือที่ว่า “ถึงไม่กิน เขาก็จับมาอยู่ดี” ?
- ชัวร์ก่อนแชร์ : ปลาข้าวสารคือตัวอ่อนของปลากะตัก จริงหรือ?