ช่องว่างของกฎหมายและความล่าช้าที่อาจทำให้สัตว์น้ำต้องสูญพันธุ์

ช่องว่างของกฎหมายและความล่าช้าที่อาจทำให้สัตว์น้ำต้องสูญพันธุ์

“ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” กลุ่มประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด รวมตัวกันล่องเรือจากหาดปะนาเระ จ.ปัตตานี มุ่งหน้าสู่สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา จี้รัฐควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

กิจกรรมรณรงค์ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน ที่กลุ่มประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด รวมตัวกันล่องเรือจากหาดปะนาเระ จ.ปัตตานี มุ่งหน้าสู่สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา เป็นระยะเวลา 12 วัน เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล ให้เร่งออกประกาศกำหนดควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามมาตรา 57 ของพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุมและส่งเสริมให้ผู้ขาย ผู้บริโภค และชาวประมง ตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจัง เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกประกาศใช้มาแล้วถึง 7 ปี แต่ยังไม่มีการออกประกาศกำหนดตามกฎหมายมาตราดังกล่าวเลย ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านจึงต้องการส่งเสียงถึงชาวประมงด้วยกันและรัฐบาล ให้ยุติการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมไปถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคไม่ให้สนับสนุนสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่นๆในอนาคต เช่น ปลาข้าวสาร หมึกกะตอย ปูกะตอย และรวมถึงลูกปลาทูด้วย เพราะจำนวนสัตว์น้ำมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มประมงพื้นบ้าน เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 กลุ่มประมงพื้นบ้าน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมแนบรายชื่อประชาชนที่ร่วมสนับสนุนยุติการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อเรียกร้องให้เร่งออกกฎหมายบังคับใช้ไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจัง

โดยมาตรา 57 “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนําสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง”

ซึ่งจากมาตราดังกล่าวจะต้องมีการระบุชนิดสัตว์น้ำและขนาด รวมถึงห้ามนำสัตว์เหล่านั้นขึ้นเรือ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการประกาศกำหนด

การที่กรมประมงยังไม่ออกประกาศกำหนดตามมาตร 57 เกิดช่องว่างทางกฎหมาย รวมทั้งเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ในทางปฏิบัติด้วยเนื่องจากไม่มีกฎหมายลูกให้อำนาจในการกำกับดูแล ทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนยังคงถูกจับเพื่อส่งขายอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการควบคุม

จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า กรมประมงเคยมีการชี้แจงเรื่องการออกประกาศกำหนดตามมาตรา 57 ว่าเหตุใดจึงมีความล่าช้าไว้ใน FACEBOOK กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 ดังนี้

นายอดิศร พร้อมเทพ (อธิบดีกรมประมง ในขณะนั้น) ได้มีการชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 57 มีข้อกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” มิได้มีข้อยกเว้นไว้กับจำนวนสัตว์น้ำที่นำขึ้นเรือประมงแต่ประการใด และหากได้มีการกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่ห้ามนำขึ้นเรือแล้ว ก็มิได้มีข้อยกเว้นกับเรือประมงพื้นบ้านหรือเรือประมงพาณิชย์ ทั้งนี้ มาตรา 57 จึงเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงเป็นอย่างยิ่ง มีความเสี่ยงที่ชาวประมงจะกระทำผิดได้โดยง่าย และอาจทำให้ชาวประมงกระทำผิดโดยมิได้ตั้งใจ

ดังนั้น จะต้องนำมาตรา 71 (2) ซึ่งมีข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับโดยบังเอิญ มาพิจารณาร่วมด้วย เพราะหากพิจารณาตาม 71 (2) การที่สัตว์น้ำถูกจับได้ โดยมิใช่การมุ่งหมายจะจับสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ โดยตรง ย่อมมีปริมาณไม่มากนัก จะสามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่ชาวประมงจะกระทำผิดตามมาตรา 57 ได้ และเมื่อช่วงปลายปี 2559 ได้มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดขนาดสัตว์น้ำตามมาตรา 57 อันประกอบไปด้วยนักวิชาการของกรมประมง และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากร ร่วมกันพิจารณาเรื่องของชนิดสัตว์น้ำ เครื่องมือประมง ปริมาณการจับที่นำมาใช้ประโยชน์ โดยคณะกรรมการได้พิจารณาให้ “ปลาทู” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม ควรเป็นสัตว์น้ำชนิดแรกที่นำมากำหนดขนาด และออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามมาตรา 57 ประกอบกับผลวิจัยของกรมประมงระบุว่า ปลาทู ขนาด 14 เซนติเมตร เป็นปลาทูขนาดแรกสืบพันธุ์ ที่เริ่มวางไข่ครั้งแรก ดังนั้น เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างเหมาะสม จึงไม่ควรจับปลาทูในช่วงที่ยังไม่สามารถวางไข่ได้ แต่หากกำหนดขนาดปลาทูที่เล็กที่สุดของวัยแรกสืบพันธุ์ที่ 14 เซนติเมตร ตามมาตรา 57 อาจทำให้ทั้งเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้าน มีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดได้โดยง่ายเหมือนกัน เพราะทั้งเครื่องมือพื้นบ้านและพาณิชย์ต่างก็สามารถจับปลาทูขนาดต่ำกว่า 14 เซนติเมตรได้เช่นกัน

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงในภาพรวม กรมประมงจึงได้มีการเชิญประชุมหารือตั้งแต่ปี 2559 – 2560 รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยเป็นการประชุมด้านวิชาการ เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับขนาดของปลาทู 2 ครั้ง ประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับประมงพื้นบ้าน 2 ครั้ง และประมงประมงพาณิชย์ 1 ครั้ง และประชุมโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขกฎหมายอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพการทำประมง ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือร่วมกันระหว่างประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ อีกจำนวน 1 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันทั้งในส่วนของกรมประมง ประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ได้ โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านได้ยอมรับในขนาดของปลาทูที่ห้ามทำการประมง ที่ขนาดต่ำกว่า 14 เซนติเมตร ในขณะที่ทางประมงพาณิชย์เบื้องต้นขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าจะไปดำเนินการประชุมหารือร่วมกับสมาคมประมง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลเพื่อหาข้อยุติก่อน

อธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการตามมาตรา 57 จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและชัดเจนมีความเห็นร่วมกันทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับการประกอบอาชีพประมง ดังนั้น ชาวประมงทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติ”

ซึ่งหลังจากที่มีการเข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยมีผู้แทนรับมอบได้ประสานงานไปที่อธิบดีกรมประมงและจะมีการเร่งจัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกันกับตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านในการออกประกาศกำหนดตามมาตรา 57 เมื่อวันศุกร์ 10 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประมงพื้นบ้านมีมติร่วมกันไม่ขอเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ส่วนผู้แทนกลุ่มประมงพาณิชย์ ก็ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้โดยเหตุผลว่าเนื่องจากเวลานัดที่กระชั้นชิดไป

‘วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี’ นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย มองว่าการประชุมในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา คือการที่เชิญประมงพื้นบ้านมาคุยตกลงกับประมงพาณิชย์ ให้ตกลงกันถ้ายอมรับได้ก็จะออกประกาศกำหนด ซึ่งเขามองว่ามันผิดหลักการ เนื่องจากมีข้อมูลการวิจัยที่ชัดเจนแล้วว่าควรต้องกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเท่าไหร่ที่ห้ามจับ ไม่ใช่ให้กลุ่มประมงสองกลุ่มมาคุยตกลงกัน แต่หากกรมประมงยังยืนกรานจัดการประชุมในลักษณะนี้ก็คงไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งในความเป็นจริงทุกฝ่ายเห็นด้วยที่ให้มีการออกประกาศกำหนดในเรื่องของการห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

หลังจากนี้ทางเครือข่ายประมงพื้นบ้านยังคงเฝ้าจับตาการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และรอคำตอบว่าจะมีการเดินหน้าออกประกาศกำหนดหรือไม่ ถ้าไม่มีความคืบหน้าอีก 30 วัน นับจากวันมหาสมุทรโลก( 8 มิถุนายน 2565) อาจมีกิจกรรมเพื่อทวงถามความคืบหน้าในการออกประกาศกำหนดต่อไป

อนาคตความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยจะเป็นเช่นไรอยู่ในมือของพวกเราทุกคน


เรื่อง อรยุพา สังขะมาน
ภาพ คชาณพ พนาสันติสุข

อ้างอิง