เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดเวทีเสวนา เรื่อง “ทางเลือก หรือ ทางรอด หาทางออกชะตาชีวิตนกปรอดหัวโขน”
มีวิทยากร่วมให้ความเห็น 4 ท่าน ประกอบด้วย ดร.เพชร มโนปวิตร อาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรื่อง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ และคุณเมทินีย์ ภัสสาราอุดมศักดิ์
ที่มาของงานเสวนานี้มาจากสถานการณ์ที่มีการพยายามต้องการถอดถอนนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ และสามารถเพาะเลี้ยงได้สะดวกขึ้น
ผู้เขียนขอยกใจความสำคัญในเวทีเสวนา มานำเสนอ ดังนี้
‘นกปรอดหัวโขน’ หรือ ‘นกกรงหัวจุก’ เป็นนกขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่พบในประเทศเขตร้อนชื้น อาศัยอยู่ตามชายป่า ที่โล่ง ที่ทำการเกษตร ทั้งในที่ราบและในที่สูง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pycnonotus jocosus และมีชื่อสามัญว่า Red-whiskered Bulbul
นกชนิดนี้ในปัจจุบันเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย ด้วยความที่นกชอบส่งเสียงร้อง มีเสียงไพเราะ และน้ำเสียงของนกแต่ละตัวแตกต่างกัน จึงมีการนำนกมาประกวดเสียงร้อง ทำให้มันราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด บวกกับความเชื่อว่าถ้านำนกจากป่ามาผสมพันธุ์กับนกเลี้ยงจะได้นกที่มีเสียงไพเราะมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีการลักลอบจับนกจากธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง
กอปรกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นสวนทางกลับอัตราการผลิตนกในที่เพาะเลี้ยงไม่ได้เพิ่มทันความต้องการ อาจด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับในการขออนุญาตทำการเลี้ยง ซึ่งต้องใช้เวลาที่นานกว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน และกฎหมายที่ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มคนพิการ คนที่ไม่มีทุน การขึ้นทะเบียนที่ต้องไปดำเนินการที่สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งบางแห่งอยู่ห่างไกลจากสถานที่เพาะเลี้ยง ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงบางรายมีความไม่สะดวกในการเดินทา หรือไม่สามารถเดินทางไปได้
จากข้อมูลการรายงานสรุปผลคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าของนกปรอดหัวโขน ในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2551 มีจำนวน 16,353 ตัว และช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2563 จำนวน 18,096 ตัว ซึ่งจะเห็นว่านกปรอดหัวโขนยังคงมีจำนวนการล่าที่เพิ่มขึ้น และจากการจับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา หัวหน้าชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจพิเศษสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมตรวจสอบพบ “นกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก” ใส่ในกล่องพลาสติก จำนวน 7 กล่อง กล่องกระดาษ 1 กล่อง จำนวน 412 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 580 โดยจับกุมผู้กระทำผิดได้ 1 ราย ตรวจดูอาการของนกดังกล่าว พบมีสภาพอ่อนแรง เนื่องจากขาดน้ำและอากาศ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อน จึงทำให้นกหลายตัวตายคากล่องที่ใส่มา
ตามที่กล่าวว่าเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของการลักลอบค้านกผิดกฎหมาย แน่นอนว่ายังมีรายอื่นๆ ที่เล็ดลอดการจับกุม ขณะเดียวกันการประกาศขายนกป่า หรือแสดงความต้องการซื้อนกป่ายังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องตามเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายนกปรอดหัวโขน หรือการผสมขายระหว่างนกเลี้ยงและนกป่า
ตลอดจนผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขนจำนวนหนึ่งยังให้ความนิยมการเลี้ยงนกป่า ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะผู้ที่ต้องการนกราคาถูกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่มองว่านกป่ามีคุณสมบัติที่ดีบางอย่าง และหากนำมาฝึกสำเร็จอาจเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันได้ ดังจะเห็นได้จากบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ของผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขน ที่สอนทั้งวิธีดักจับนกจากธรรมชาติ และวิธีฝึกนกที่ได้เพื่อนำไปแข่งขัน
‘นกปรอดหัวโขน’ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 580 ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้ล่าหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งรวมถึงซากของสัตว์เหล่านี้ด้วย เว้นแต่การกระทำโดยทางราชการ
ข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข
ดร.เพชร มโนปวิตร มองว่าข้อเสนอพยายามที่จะไปแก้จุดที่ไม่ตรงกับปัญหา เพราะการปลดสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งออกจากสถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง หมายความว่าสัตว์ชนิดนั้นต้องมีข้อมูลประชากรในธรรมชาติที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ในที่นี้ข้อมูลของนกปรอดหัวโขนยังมีสถานะที่น่าเป็นห่วงอยู่
คุณเมทินีย์ เสนอว่า นกปรอดหัวโขนมีขั้นตอนในการขอใบอนุญาตให้เพาะพันธ์ุได้ ขายได้ แต่หากติดขัดในขั้นตอน ควรแก้โดยการหารือกับภาครัฐให้ส่งเสริมสนับสนุนหรือแก้ไขขั้นตอนให้สะดวกขึ้นมากกว่าการขอปลด
อาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรื่อง ให้ความเห็นไว้ว่าการนำเสนอข้อมูลของฝั่งที่สนับสนุนการปลดอาจมาจากประสบการณ์ส่วนตัว ทำให้เกิดช่องว่างของข้อมูลในการนำเสนอ ยังขาดตัวเลขหรือข้อมูลในลักษณะเดียวกันจากฝั่งผู้สนับสนุนมายืนยัน
“เราไม่รู้ข้อมูลสัดส่วนตลาด แนวโน้ม กลุ่มผู้เพาะ เพราะข้อมูลบางชุดนิยมนกเพาะ บางชุดนกป่าไม่ดี เรามีนกที่เพาะเลี้ยง แต่ตัวเลขการจับไม่ลดลง ปัญหานั้นสวนทางกับความเป็นจริง” อาจารย์เข็มทองกล่าว
“หากการปลดล็อคเกิดขึ้นจริงอนาคตของนกปรอดหัวโขนก็คงดูมืดมน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเหตุผลที่แท้จริงที่มีการเรียกร้องให้ปลดนกชนิดนี้ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง อาจเป็นเพราะประชาชนที่เสนอเรื่องนี้อยากเลี้ยงและค้าขายอย่างสะดวกเสรี โดยไม่ต้องขออนุญาต”
“หรืออาจเป็นเกมส์การเมืองอย่างหนึ่งที่เราเองก็ไม่ทราบ รวมไปถึงข้อสันนิษฐานกรณีเลวร้าย คือ ต้องการจับนกออกจากธรรมชาติได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่สุดท้ายแล้วผลนั้นตกลงที่นกชนิดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
อาจารย์เข็มทอง ให้ความเห็นต่ออีกว่า ทางออกจึงไม่ใช่เรื่องปลดออกจากสถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ควรมองว่าหากปลด จะมาตรการรับมือไม่ให้นกปรอดหัวโขนในธรรมชาติลดลงได้อย่างไร เพราะขนาดเป็นสัตว์คุ้มครองยังไม่สามารถปกป้องนกได้
ขณะที่ นายแพทย์รังสฤษฎ์ ได้เสนอทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาไว้ว่า ควรมีการศึกษาติดตามประชากรในธรรมชาติทั้งในและนอกพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อให้ทราบถึงสถานะ พร้อมติดตามข้อมูลการลักลอบและจำนวนนกที่ถูกจับยึดเป็นของกลาง
ควรปรับปรุงการขึ้นทะเบียนนกเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และต้องแยกแยะระหว่างนกป่ากับนกเลี้ยงให้ชัดเจน
การเพาะเลี้ยงติดตามประสิทธิภาพ ศักยภาพ การเพาะเลี้ยงเพื่อทดแทนความต้องการนกจากธรรมชาติ และเพื่อตรวจสอบว่านกเกิดมาจากการเพาะเลี้ยงจริงๆ ไม่ได้ลักลอบเอานกป่ามาผสม
รวมถึงการสร้างจิตสำนึก ประชาชน สื่อ ภาครัฐทุกๆ ภาคส่วน และการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามผู้กระทำผิด
.
ผู้เขียน : นาย อัครวิชญ์ จันทร์พูล
อ้างอิง Bird Talk ทางเลือก หรือ ทางรอด หาทางออกชะตาชีวิต “นกปรอดหัวโขน”