จากลูกพรานป่า สู่เส้นทางของคนเฝ้าป่า และยังคงยืนหยัดอยู่บนเส้นทางผู้พิทักษ์ป่ามายาวนานกว่า 30 ปี
.
ประภาส มั่นคง พิทักษ์ป่าวัย 58 ปี ชายผู้ทำงานกลางไพรกว้าง ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง (ตอนบน) ภูเขาทุกลูก ลำห้วยทุกสาย คือพื้นที่ที่เดินลาดตระเวน
แม้ชีวิตการทำงานจะผ่านร้อนผ่านหนาวกรากกรำงานหนักมานับไม่ถ้วน เเต่ลึกๆ เเล้วชายผู้นี้เจ้าน้ำตาไม่ใช่เล่น…
.
เส้นทางชีวิต ก่อนเป็นพิทักษ์ป่า
ประภาส มั่นคง ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า ระดับ ส.3 ปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง เป็นชาวกาญจนบุรีโดยกำเนิด
ชีวิตในวัยเยาว์อยู่ท่ามกลางผืนป่า เเถบกาญจนบุรี เป็นที่ทราบกันดีว่าสมัยก่อนนั้นป่าเเถบกาญจนบุรีสัตว์ป่าค่อนข้างชุกชุม ในช่วงขณะนั้นยังคงมีการล่าสัตว์อยู่มาก บิดาของพี่ประภาสเองก็มีอาชีพล่าสัตว์ป่าขายเช่นกัน
“มีครั้งหนึ่ง พ่อให้เอาตัวลิ่นไปขายที่ตลาดแถวโรงเรียน ตอนที่พ่อเอามาให้มันขดเป็นก้อนกลม พอเดินถือไปได้สักระยะ ยังไม่ทันถึงโรงเรียน ตัวลิ่นมันคลายตัว หลุดมือ พี่กับพี่ชายช่วยกันดึงหางมัน พยายามจะจับ แต่สู้เเรงไม่ไหว ตอนนั้นยืนร้องไห้อย่างเดียว ไม่รู้จะทำอย่างไร กลัวพ่อจะว่าเอา…”
“พอโตขึ้นมา เหมือนเราต้องมาชดใช้กรรมที่เราทำไว้กับสัตว์ป่าเลยนะ เพราะอยู่ๆก็จับพลัดจับผลูมาทำงานอนุรักษ์ มาคอยเฝ้าป่าอยู่เป็นสิบๆ ปี”
พี่ประภาส กล่าวปิดท้ายอย่างอารมณ์ดี แต่เเฝงไปด้วยนัยยะว่า นี่เเหละคือสิ่งที่ฉันควรจะทำ
ชีวิตช่วงวัยรุ่นสมัครเข้าทำงานที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติเเละสัตว์ป่าเขาน้ำพุ เมื่อปี 2531 เมื่อครบอายุงานสอบรับราชการทิ้งไว้ ก่อนลาออกไปหางานทำในกรุงเทพฯ
เมื่อเวลาผ่านไปปีกว่าๆ ได้รับข่าวว่าสอบผ่าน จึงกลับมาทำงานในสายงานอนุรักษ์เเละเริ่มงานในบ้านหลังใหม่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง
ณ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยน้ำตื้น หน่วยพิทักษ์ป่ากลางป่าลึกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากมีป่ากฤษณาอยู่บริเวณพื้นที่รับผิดชอบ งานเฝ้าระวังต้องกระทำอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันผู้ที่จ้องจะเข้ามาลักลอบตัดไม้ อีกทั้งบริเวณนี้ยังเป็นเเหล่งต้นน้ำที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำลำขาเเข้ง ต้นน้ำห้วยทับเสลา ต้นน้ำที่ไหลลงเเม่เรวา ต้นน้ำที่ไหลลงห้วยเเม่ละมุ้ง
ด้วยความที่ขณะนั้นพี่ประภาสเป็นเจ้าหน้าทีเพียงคนเดียวของหน่วยฯ ห้วยน้ำตื้นที่ผ่านการฝึกหลักสูตรการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) รุ่นเเรกๆ ของห้วยขาเเข้งในปี 2550 จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวเเรงในการนำทีมปกป้องผืนป่า
พี่ประภาส ใช้เวลาประจำอยู่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยน้ำตื้นนานถึง 13 ปี แม้จะได้อยู่กับงานที่ตนรักเเละทุ่มเทให้ด้วยหัวใจ แต่กลับต้องทิ้งบทบาทหน้าที่ของพ่อ ที่เจ้าตัวยอมรับเองว่าบกพร่องในหน้าที่อันพึงมีต่อลูกสาวทั้ง 2 คน ที่ต้องส่งให้อยู่โรงเรียนประจำตั้งเเต่อายุยังน้อย นานครั้งถึงจะได้พบหน้า ความอบอุ่นของครอบครัวจึงขาดหายใป
.
.
อ่อนไหว… เเต่ไม่อ่อนเเอ
ย้อนกลับไปช่วงปี 2546 พี่ประภาสได้มีโอกาสร่วมงานวิจัยนกเงือก มีหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสังเกตุการหาอาหารในช่วงฤดูทำรังวางไข่ของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ เป็นเวลาสองปี
นกเงือกกรามช้างปากเรียบรังหมายเลข 6 เป็นหนึ่งในครอบครัวที่พี่ประภาสเฝ้าสังเกตุการณ์
“ช่วงที่กลับไปเฝ้าโพรงรังหมายเลข 6 วันหนึ่งก็พบว่า พ่อนกเงือกกรามช้างปากเรียบมาป้อนเพียงอาหารมื้อเช้า เเล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย (ซึ่งปกติวันหนึ่งจะมาป้อนอาหารให้นกเงือกตัวเมียเเละลูกที่อยู่ในโพรงรังวันละ ประมาณ 10 ครั้ง) เมื่อกลับมาสำรวจโพรงเดิมในวันที่สาม ก็พบว่านกเงือกตัวเมียออกมาเกาะอยู่กิ่งหน้าโพรงรัง เนื่องจากทนความหิวมานานหลายวัน เเละก็ส่งเสียงร้องเรียกหาตัวผู้อยู่ตลอดเวลา ด้วยความสงสาร อยู่ๆ น้ำตา ก็ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว”
นั่นเป็นครั้งเเรกที่ผู้ชายคนนี้ ‘เสียน้ำตา’ ให้กับสัตว์ป่า ราวกับว่าความรู้สึกของนกเงือกตัวนั้นได้ถูกส่งผ่านมาถึงเขาโดยตรง
ต่อเรื่องราวที่ได้พบ ภาพที่ได้จาการเฝ้ามองดูความเป็นไปของเหล่าสัตว์ป่า ได้ถูกดัดแปลงเป็นนิทานเรื่องแล้วเรื่องเล่าเพื่อนำไปเล่าให้เด็กๆ ที่ค่ายเยาวชนได้ฟัง หรือบางครั้งก็เขียนกลอน ไปลงในวารสารเพื่อนห้วยขาเเข้ง ซึ่งเขาเองได้มีงานลงคอลัมน์หนึ่งในทุกๆ เดือน
ช่วงหนึ่งตอนที่อยู่หน่วยฯเห็นนกพญาปากกว้างลายเหลือง คาบเอากิ่งไม้ใบหญ้ามาสานทำรังบนต้นตะเเบกอยู่หลายวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง รังอันเป็นเรือนหอได้สร้างเสร็จ ไม่นาน ฝูงชะนีก็บุกมารื้อรัง เอาไข่นกไปกิน เห็นอย่างนั้นอารมณ์ศิลป์ก็เกิด จึงได้แต่งกลอนไว้บทหนึ่ง
โอ้เรือนหอเเสนสวยเราช่วยสร้าง
ต้องอับปางพังทลายอย่างไร้ค่า
สู้เหน็ดเหนื่อยหลายวันผ่านพ้นมา
กล้วยไม้ป่าหญ้าเเห้งเเต่งทำรัง
กลับถูกเจ้าชะนีดื้อรื้อหาไข่
แล้วทำลายลงสิ้นถิ่นเคยหวัง
ต้อนร่อนเร่หาที่ใหม่ไปสร้างรัง
แล้วก็หวังหามีไม่ใครรบกวน
.
.
กล้องเก่าเล่าเรื่องไพร
นอกจากงานลาดตระเวนที่ต้องทำอยู่เป็นประจำเเล้ว การถ่ายภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พี่ประภาสทำควบคู่กันไป
จากเริ่มต้นที่ถ่ายภาพด้วยความชื่นชอบ ถ่ายเป็นงานอดิเรก ก็ขยับมาเป็นถ่ายไว้ประกอบการเล่าเรื่องตอนออกค่ายให้เด็กๆได้เห็นภาพสัตว์ป่า เล่นเกมส์ทายภาพสัตว์ป่า และส่งให้กับทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้งเพื่อนำไปใช้งานต่างๆ
สองปีมานี้พี่ประภาส ย้ายมาอยู่งานประชาสัมพันธ์ บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง ยามว่างจากการปฏิงานก็จะไปเดินถ่ายรูปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ หรือตามโป่งต่างๆ เพื่อบันทึกภาพสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ
หากใครได้มีโอกาสไปเยียมเยือมห้วยขาเเข้ง ก็อย่าลืมมองหาพี่ประภาส เเละเข้าไปทักทาย รับรองได้เลยว่า การเดินศึกษาธรรมชาติของคุณจะสนุกเเละได้รับความรู้ขึ้นอีกเยอะ
.
.
ชุบชูใจวัยใกล้เกษียณ
ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า คนที่อยู่กับป่ามาโดยตลอด เเละทำงานในป่ามากว่าครึ่งชีวิต หากวันหนึ่งหมดหน้าที่ตรงนี้ไปแล้ว เขามองอนาคตตัวเองไว้อย่างไร
ความคิดนี้ผุดขึ้นมาหลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวชีวิตอันเเสนโชกโชนของพี่ประภาสมาเกือบสิบวัน ระหว่างการเดินทางทำงานในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่ากะปุกกะเปียง
แววตา เเละน้ำเสียง สื่อความหมายของเรื่องราวที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน
แม้รายละเอียดจะตกหล่นไปบ้างด้วยระยะทางของกาลเวลา แต่ความรู้สึก เเละ ความอิ่มเอมใจ ในห้วงขณะนั้นยังคงตราตรึง
“อีกปีกว่าๆ ก็จะเกษียณเเล้ว ที่เหลือก็คงต้องฝากความหวังไว้กับเด็กๆในทีมต่อไป ยังมีอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ ช่วงเวลาจากนี้ก็จะพยายามทำมันให้ได้…. หรือไม่ก็วนเวียนคอยช่วยงานทางเขตฯอยู่แบบนี้เเหละ บ้านก็อยู่เเค่ลานสักนี่เอง
ทำงานมาได้ถึงจุดนี้ก็นับว่าภูมิใจมากๆเเล้ว ใครจะไปคิดว่าเด็กที่จบระดับ ป. 4 จะมารับราชการ มาทำหน้าที่ที่สำคัญอย่างนี้ได้…. ”
ถ้อยคำจากพี่ประภาส ที่ทิ้งท้ายไว้ ทำให้เรารู้สึกว่า แม้ หน้าที่ ทาง อาชีพ ใกล้จะสิ้นสุดลง เเต่หน้าที่ของ คนดูเเลป่า จะไม่จบลงเพียงเท่านี้ พี่ประภาสไม่ได้ ปลดเกียร์ว่าง ก่อนวัยใกล้เกษียณ แต่ยังคง เติมเต็ม งานในส่วนที่อยากทำให้งอกงามขึ้นมา
ราวกับว่าได้ต่อจิ๊กซอว์ไว้เรียบร้อยเเล้ว ส่วนที่เหลือก็บรรจงใส่กรอบให้สวยงาม เเล้วเอาไปวางไว้ในตำเเหน่งที่เหมาะสม…..
ผู้เขียน
ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส