ภาพเสือปลาจากกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap) จับได้ขณะที่เสือปลาออกหากินในช่วงเวลากลางคืน นอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
.
เสือปลาสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก มักอาศัยบริเวณป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำ ปัจจุบันถิ่นอาศัยแหล่งสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของเสือปลา คือ พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด ซึ่งตั้งอยู่ในและโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ปัจจุบันเสือปลามีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตาม IUCN Red List ในขณะที่ประเทศไทยเสือปลาได้รับการปรับสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) แสดงให้เห็นว่า สถานภาพของประชากรเสือปลากำลังน่าเป็นห่วงและมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธ์ุไปจากธรรมชาติ
จากการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) โดยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap) 50 จุด เพื่อประเมินประชากรและความหนาแน่นของเสือปลาในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พบว่า ประชากรเสือปลาส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์นอกพื้นที่อนุรักษ์ (พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน) ในปี 2564 ถ่ายได้ 33 จุด แบ่งเป็นนอกพื้นที่อุทยาน 21 จุด และในพื้นที่อุทยาน 12 จุด โดยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66 ตัวในพื้นที่ศึกษา 225 ตร.กม.
.
.
ปัจจัยคุกคามสำคัญต่อเสือปลา คือ การขยายตัวของชุมชนรวมถึงการประกอบอาชีพที่มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ทำให้ในพื้นที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การทำบ่อกุ้ง บ่อปลา และปศุสัตว์ ด้วยพฤติกรรมของเสือปลาที่มีการบริโภคปลาและสัตว์ปีกเป็นอาหาร จึงเกิดการใช้พื้นที่ซ้อนทับกับเสือปลา บ่อยครั้งเสือปลาจึงมักเข้าไปบริเวณชุมชนเพื่อล่าอาหาร จึงทำเกิดความขัดแย้งระหว่างเสือปลากับชาวบ้านในพื้นที่
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำรงอยู่ของเสือปลา จึงเกิดโครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลาในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ประกอบด้วย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) และชุมชนในพื้นที่
มีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568) ตั้งแต่ วันที่ 31 มกราคม 2564 – 1 กุมภาพันธ์ 2568 และใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 10,435,500 บาท
ตั้งแต่ปี 2563 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมทั้งการรับฟังปัญหาระหว่างเสือปลากับชาวบ้าน จึงทำให้เกิดแผนการดำเนินโครงการเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์เสือปลาอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่
ที่ผ่านมาได้มีการทำกรงไก่ ทั้งไก่ชนและไก่พื้นเมืองให้กับชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อป้องกันการเข้าไปล่าของเสือปลา แต่จากการติดตามผลเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่ากรงดังกล่าวไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซนต์ บางบ้านไก่ถูกล่าไปเกือบทั้งหมด ซึ่งนี่เป็นปัญหาหนึ่งที่จะต้องหารือร่วมกับชาวบ้านต่อไป