ผมทบทวนตัวเองว่าต้นปีนี้ ผมขาดกิจกรรมอะไรที่ทำอย่างสม่ำเสมอไปบ้าง ก็พบว่าต้นปีนี้ผมไม่ได้ไปงานประชุมอบรมเสริมความรู้ของเครือข่าย “หมอปฏิวัติ” ในพื้นที่ชุมชนในป่าลึกที่อุ้มผาง ที่เป็นภารกิจประจำที่ทำมาสิบปี
ย้อนไปเมื่อราวสิบเอ็ดสิบสองปีที่แล้ว ผมเริ่มต้นทำงานเป็นผู้จัดการโครงการใหญ่ให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยการตัดสินใจทิ้งชีวิตการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยไปรอนแรมอยู่ในพื้นที่ชุมชนในป่าตะวันตกที่มีอยู่ร่วมๆ ร้อยชุมชน แต่กลุ่มชุมชนที่เข้าถึงยากลำบาก และลึกลับที่สุดของผมคือชุมชนสองฝั่งริมลำห้วยแม่จัน ที่เป็นลำห้วยขนาดใหญ่ที่มีต้นน้ำอยู่ที่พรมแดนพม่า ไหลเคี้ยวคดผ่านป่าใหญ่ลงไปบรรจบกับแม่น้ำแม่กลอง ที่บ้านแม่จันทะ อันมีความหมายว่าเป็นจุดบรรจบของลำน้ำแม่จันไป “ทะ” หรือ สบกับห้วยแม่กลอง ที่ไหลต่อมาอีกไม่ไกลก็เข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรีก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นลำน้ำแควใหญ่ ก่อนกลับมาเป็นชื่อแม่กลอง อีกครั้งเมื่อไหลผ่านจุดสบกับลำน้ำแควน้อยที่จังหวัดกาญจนบุรี จนออกไปถึงทะเลดอนหอยหลอด ที่สมุทรสงคราม
วันไหนสักวันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วผมพบตัวเองนั่งสนทนากับแม่บ้านชาวกะเหรี่ยงอายุมากกว่าผมไม่กี่ปี อยู่ในครัวบ้านไม้กระดานหยาบๆ ที่บ้านแม่จันทะ ผมถามเธอถึงอดีตสมัยเด็กๆ ว่าหมู่บ้านนี้มีความเป็นอยู่อย่างไร เพราะคนรุ่นนี้ที่นั่นเมื่อเป็นเด็กรู้ความไม่นานก็จะพบว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงในป่าลึกเป็นที่ตั้งมั่น และยึดครองโดยกองทัพทหารป่า ที่มีทั้ง “สหายจากเมืองจีน” และคนไทย ที่รับเอาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มาป่ามาทำสงครามปฏิวัติกับรัฐบาลไทย หมู่บ้านกลางป่าที่แทบจะตั้งอยู่ระหว่างรัฐไทย และพม่า ที่แทบไม่เคยมีผู้ปกครองฝ่ายไทยเหยียบย่างเข้ามา ก็เข้าร่วมรบกับกองทัพปฏิวัติคอมมิวนิสต์โดยเงื่อนไขที่เป็นชุมชนเล็กน้อยกลางป่า และไม่เคยได้รับประโยชน์อันใดกับการขึ้นกับประเทศไทยในสมัยนั้น มิหนำซ้ำกองทัพนี้ยังช่วยมาคุ้มครองให้ไม่ต้องไปรบกับประเทศพม่า ร่วมกับรัฐกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปกครองตัวเองจากรัฐทหารของพม่า
ผมจำได้แม่นยำว่าเธอชื่อ “ภาราดร” ซึ่งมีความหมายเชิงอุดมคติ ที่หมายถึงความรู้สึกดั่งพี่น้อง เป็นคำที่สหายร่วมรบในสมัยนั้นใช้กันอย่างกว้างขวาง เธอเล่าว่าโตขึ้นมาก็ต้องเรียนกับสหายเพื่อเป็นเยาวชนปฏิวัติ และฝึกเป็นพยาบาล เรียนพื้นฐานสามารถรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้ และต้องทำงานเป็นพยาบาลในกองทัพเวลานักรบสู้รบบาดเจ็บ และบางทีก็ต้องเดินทางไปร่วมรบ โดยเป็นพยาบาลสนามตั้งแต่วัยรุ่น
เราคุยประสบการณ์เรื่องนี้กันมากมาย และมาสิ้นสุดเรื่องเพลงปฏิวัติ ที่ผมพอจะมีความรู้และร้องเพลงพวกนี้ที่สืบต่อมาในชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทสมัยเรียนมหาวิทยาลัย คลับคล้ายคลับคลาว่า ผมลองเอื้อนเพลง “ขอฝากเสียงเพลงแด่เธอเมื่อยามห่างไกล มอบด้วยดวงใจข้ามน้ำทะเลกว้างใหญ่…” ที่ร้องกันในค่ายแล้วเธอก็ร้องต่อได้หลายท่อน ทั้งๆ ที่เธอบอกว่าตั้งแต่เลิกปฏิวัติหมู่บ้านก็เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และมาตั้งเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว เพลงพวกนี้ก็ยังจำได้ และร้องเล่นฮัมๆ อยู่ในความคิดเสมอๆ
จำได้ว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว หลังจากรู้จักกับภาราดร ผมรู้สึกเหมือนค้นพบของดีที่กลางป่าทั้งเรื่องราวน่าตื่นเต้น ระคนความเศร้าของความยากลำบาก และที่สำคัญคืออารมณ์ของนักรบหญิงที่รบแพ้กกลายเป็นแม่บ้านกะเหรี่ยงธรรมดามีลูกเต้าทำไร่อยู่กลางป่าลึก ที่เมื่อผ่านเวลามาก็ยังมีสภาพใกล้เคียงกับสมัยก่อน เพียงแต่ไม่มีกองทัพปฏิวัติ มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านที่ก็เป็นผู้นำเก่าๆ ผลัดเวียนกันขึ้นมาดูแล ถนนหนทางเข้ามาสู่หมู่บ้านยากลำบากเหมือนเดิม แม้จะมีรถวิ่งได้บ้างแต่หน้าฝนก็ไม่มีทางลุยโคลนและข้ามแม่น้ำได้
ผมรู้สึกว่านอกจากวิถีชีวิตที่เป็นคนป่าคนดงห่างไกลที่ถูกเก็บไว้ในชุมชนป่าลึก แล้วอีกอย่างหนึ่งที่เก็บไว้อย่างดีก็คือความทรงจำและคำสอนแบบอุดมการณ์ปฏิวัติ ประเภท การเสียสละรับใช้มวลชน การทำงานรวมหมู่ การมีวินัยในการประชุม รวมถึงจิตใจที่ถูกกระตุ้นไว้ตั้งแต่หนุ่มสาวด้วยไฟการต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากการเอารัดเอาเปรียบของฝ่ายปกครองในสมัยนั้น
การทำงานแถวๆ นั้นในสองสามปีแรกๆ ทำให้ผมรู้จักอดีต “สหาย” ที่เป็นอดีตบุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพปฏิวัติสมันโน้นหลายคน ที่ผมนึกชื่อปฏิวัติได้ทันทีก็มี พี่ท้าทาย พี่สดใส พี่แสงเดือน ซึ่งปัจจุบันชื่อคำไทยกลิ่นอายปฏิวัติแบบนี้ก็ถูกใช้ในบัตรประชาชนแทนชื่อกะเหรี่ยง
เราทำโครงการเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับการประกาศพื้นที่ป่าและที่ทำกินของบ้านเขาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่จนสามารถหาข้อตกลงที่จะทำกินโดยมีวิถีชีวิตปกติสุขแต่ไม่ขยายพื้นที่รุกป่าได้สำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ความเป็นชุมชนห่างไกลขาดแคลนทุกด้านทำให้พวกเราตกลงที่จะฟื้นฟูความรู้ของอดีตหมอปฏิวัติเหล่านี้ขึ้นเพื่อช่วยปฐมพยาบาล รวมถึงรักษาโรคทั่วๆ ไปที่พวกหมอๆ พยาบาลเคยรักษาอย่างช่ำชองสมัยมีการรบกันเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว หลายๆ คนยังทำหน้าที่หมอตำแยที่สุดยอดฝีมือทำคลอดให้คนทั้งหมู่บ้าน หลายคนถูกทางการมอบหมายให้เป็น อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขอยู่แล้ว หลายคนเป็นหมอที่ยังคงฝังเข็ม แนะนำยา ช่วยฉีดยา ให้น้ำเกลือคนป่วยอย่างแคล่วคล่อง ตามประสาคนในป่าที่ต้องหาทางช่วยเหลือกันเอง ผมพบว่าชุมชนริมห้วยแม่จันมีหมอป่าแบบนี้มากถึงกว่าห้าสิบคน
สิบปีที่ผ่านมาพวกเราระดมทุนจากแหล่งต่างๆ ซื้อเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น ยารักษาโรคพื้นฐาน มีดผ่าตัดเล็ก เข็มเย็บแผล น้ำยาล้างแผล สารพัดไปมอบให้เครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพชุมชนที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านด้านสุขภาพ คัดกรองผู้ป่วยก่อนส่งโรงพยาบาลในเมือง ที่สำคัญคือเป็นการช่วยชีวิต และลดค่าใช้จ่ายของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน ด้วยจิตอาสาของหมอ–พยาบาลปฏิวัติ ที่กลับมาทำงานโดยจิตใจรับใช้มวลชนเหมือนสมัยก่อน แม้ว่าหลายคนจะคอยช่วยคนจนแทบไม่มีเวลาทำไร่ แต่ทุกคนก็ยังมีความสุขที่ได้ทำงานนี้กัน แต่ละปีเมื่อพ้นช่วงเกี่ยวข้าวในช่วงปลายปี–ต้นปี เราจะนัดประชุมรวมกันเวียนไปในแต่ละหมู่บ้าน เครือข่ายของเราก็จะเดินบ้าง หารถอีต็อกร่วมกันเดินทางรับกันมาบ้าง มารับการฟื้นฟูความรู้ที่เราพยายามหาบุคลากรทางการแพทย์สมัยใหม่ที่มีใจอยากช่วยไปฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอมาทุกปี
ในการพบกันแต่ละครั้งพวกเขาจะย้อนกลับไปร้องเพลงรำวง เพลงปฏิวัติกันอย่างสนุกสนาน เพราะก่อนหน้านี้ก็แทบไม่เคยพบกันพร้อมหน้า เพลงเก่าๆ สมัยเป็นนักรบหนุ่มสาวทั้งภาษาไทย กะเหรี่ยง จีน รวมถึงเพลงม้ง พร้อมท่ารำ ท่าเต้น เก่าๆ ทยอยผ่านความทรงจำของพวกเขาผ่านรูปลักษณ์ที่ดูภายนอกยังเป็นลุงๆ ป้าๆ กินหมากปากแดง
นี่เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่สุดเรื่องหนึ่งของผม ในการอบรมแต่ละปี ผมมักจะถูกขอให้เล่นกีตาร์ให้อดีตสหายเหล่านี้ร้องเพลง ยามค่ำคืน เพลงที่ทุกคนร้องกันได้มากเพลงหนึ่งคือเพลงเมล็ดพืชสีแดง ที่มีท่อนหนึ่งร้องว่า “ขอเหมือนดั่งเป็น ดั่งเช่นเมล็ดพืชสีแดง… ทุกถิ่นระแหง งอกงามปฏิวัติหาญกล้า…” อันมีความหมายลึกซึ้งถึงการบ่มเพาะอุดมคติที่จะสร้างสังคมอุดมธรรม โดยเฉพาะหมอแสงเดือนที่ขับร้องเพลงนี้เพราะเป็นพิเศษ
สองสามปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลประจำอำเภอขยายสุขศาลาเข้าถึงชุมชนหลายหมู่บ้าน แม้เจ้าหน้าที่รุ่นใหม่จะไม่เก่งกาจเหมือนหมอปฏิวัติ แต่ทางการก็เริ่มมีข้อสงสัยต่อเครือข่ายของเรา ว่าจะรักษาถูกๆ ผิดๆ เป็นอันตราย และขอร้องให้ยุติการทำงานนี้ได้แล้ว
ปีนี้มีโครงการปรับปรุงเส้นทางเข้าหมู่บ้านให้ดีขึ้นมาก ใช้เวลาเร็วขึ้นในการออกมาที่เมืองและมีหมอเข้าไปช่วยตรวจรักษาในป่า แม้ผมจะเสียดายความสามารถและจิตใจรับใช้เสียสละของอดีตนักรบเยาวชนปฏิวัติ ที่ฟื้นหน้าที่ขึ้นมาทำงานกันอีกถึงสิบปี แต่ก็ทราบว่า เมือง และความเจริญไม่อนุญาตให้พวกเราได้ทำงานแบบนี้อีกต่อไปแล้ว
พวกเราไม่ได้เข้าไปจัดประชุมอบรมให้เขาอีกในปีนี้ และผมไม่ได้เล่นกีตาร์ร้องเพลงเมล็ดพืชสีแดงกับหมอแสงเดือนอีกแล้ว
เมล็ดพืชสีแดงที่งอกงามอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งในดินอุดม ที่จะค่อยๆหายไปกับกาลเวลา เหมือนกับสังคมในอุดมคติที่บังเอิญให้เราไปค้นพบและร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมาอีกครั้ง
คงไม่มีอีกแล้วเมล็ดพืชสีแดง เธอจะไม่ตาย แต่ค่อยๆ เลือนหายไป
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)