[ก้าวสู่ปีที่ 31] ตามรอยงานวิจัยเสือโคร่ง ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

[ก้าวสู่ปีที่ 31] ตามรอยงานวิจัยเสือโคร่ง ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

บันทึกนี้เขียนขึ้นหลังจากได้มีโอกาสเดินทางไปสถานีวิจัยเขานางรำ และติดตามทีมวิจัยเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่เป็นบ้านของเสือโคร่ง

.
ผมจอดรถระหว่างทางก่อนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่าประมาณหนึ่งกิโลเมตรเพราะเหลือบเห็นความเคลื่อนไหวคล้ายสัตว์ป่าอยู่ทางซ้ายมือใกล้แอ่งน้ำ เมื่อจอดรถดูจึงเห็นฝูงหมาไนสักสิบตัวรุมกินซากอะไรอยู่สักอย่าง ผมทั้งกลัวหมา และกลัวรบกวนวิถีชีวิตของมันจึงไม่ได้ลงไปใกล้ๆ 

ขับรถต่อมาอีกพักก็ข้ามสะพานไม้ซุงมาถึงซับฟ้าผ่า และเลยขึ้นไปสู่เขานางรำกลางป่าใหญ่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

วันที่ฟ้าเปิด ณ จุดชมวิวเขานางรำ ผมเห็นป่าในหุบห้วยทับเสลาเป็นผืนใหญ่ยาวสุดลูกตา นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นผืนป่าบริเวณนี้จากมุมสูง เมื่อครั้งก่อนที่ขึ้นมามีหมอกเมฆปกคลุมหนาทึบเป็นทะเลหมอก

ถัดจากจุดชมวิวเขานางรำเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีวิจัยที่ทำหน้าที่ศึกษาจำนวนประชากรและพฤติกรรมของเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งเชื่อมต่อไปถึงเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ที่ข้ามเขตจังหวัดอุทัยธานีที่นี่ไปถึงอุ้มผาง จังหวัดตาก และสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทำหน้าที่บริหารจัดการและป้องกันการบุกรุกป่า แต่สถานีวิจัยที่ตั้งอยู่ภายในป่าลึกในอาณาเขตเดียวกันมีหน้าที่ศึกษาวิจัยข้อมูลสัตว์ป่า

พรมแดนจังหวัดแบ่งแยกกันแต่ผืนป่าตะวันตกตอนกลางที่เป็นที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่นเรศวรห้วยขาแข้งยังคงต่อเชื่อมเป็นผืนเดียวกัน

สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ เป็นคนวัยปลายหนุ่มที่ทำหน้าที่หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในวันที่ผมขึ้นไปหาเขาเมื่อกลางเดือนกันยายน

หัวหน้าสถานีพาผมไปดูข้อมูลเสือโคร่ง ผ่านอัลบั้มรูปเล่มใหญ่หลายเล่ม และเล่าให้ฟังว่าภาพเสือโคร่งมากมายของสถานีถ่ายจากกล้องดักถ่าย (Camera Trap) ที่นักวิจัยเอาไปติดตั้งไว้ตามต้นไม้ที่สัตว์น่าจะเดินผ่าน

เดี๋ยวนี้แบตเตอรี่ที่อยู่ได้เดือนหนึ่ง กับระบบเมมโมรี่ดิจิตอล แทนฟิล์ม ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้นมากหัวหน้าสมโภชน์บอกเล่าถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในปัจจุบันพร้อมทั้งนำกล้องหลายสิบตัวที่เก็บมาจากป่ามาให้ดู

เขาเล่าให้ฟังว่าการดักถ่ายภาพเสือต้องวางกล้องไว้สองฟากทางด่านสัตว์ เมื่อสัตว์เดินผ่านกล้องจะได้ถ่ายภาพคู่สองภาพเป็นภาพทางซ้ายของตัวเสือและทางขวา เพื่อเก็บข้อมูลลายของเสือที่เป็นเสมือนตัวบ่งชี้แยกแยะว่าเป็นเสือตัวไหนเหมือนลายนิ้วมือคนที่แตกต่างกันจนเป็นอัตลักษณ์

งั้นหัวหน้าคงจำหลายมันมากกว่าหน้าตามันใช่ไหมครับ ?” ผมลองถามหัวหน้าสมโภชน์ดู

ถูกต้องครับ และนักวิจัยที่นี่ก็แทบจะจำเสือในป่านี้ได้เกือบทุกตัวแล้ว เพราะเราเก็บข้อมูลลักษณะนี้มายาวนาน นับสิบปี

หัวหน้าเล่าให้ฟังว่านอกจากกล้องดักถ่ายภาพเสือ สถานีวิจัยมีการดักยิงยาสลบเสือเพื่อติดปลอกคอ (Collar) ที่มีเครื่องมือติดตามตัวผ่าน GPS ให้รู้ว่าเสือเดินไปถึงไหนบ้างจนทราบว่าเสือตัวผู้จะมีอาณาเขตส่วนตัวไม่ทับกันในราว 100 ตารางกิโลเมตร และเสือตัวเมียจะมีอาณาเขตน้อยกว่าและทับเข้ามาในพื้นที่ของตัวผู้ได้หลายตัว หัวหน้าอธิบายผ่านโมเดลแผนที่ที่ใช้ด้ายสีต่างๆ ขึงอาณาเขตของเสือรอบสถานีวิจัยสัตว์ป่าเอาไว้จากข้อมูลที่เก็บมาได้

เราเปิดโน้ตบุ๊คที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซล ดูภาพจากกล้องดักถ่ายที่มีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวทั้งกลางวันและกลางคืนกันอยู่นาน นักวิจัยหนุ่มสาวสามสี่คนกำลังคีย์ข้อมูล และจำแนกแยกแยะลายเสือกันอย่างขะมักเขม้น  ผมถามหัวหน้าว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่พวกนี้มาจากไหนและไม่กลัวเหงาหรือไง

ก็ต้องเป็นคนแปลกๆ หน่อยแหล่ะครับหัวหน้ายิ้มและหัวเราะหึๆ

เราออกรถย้อนมาทางหน่วยซับฟ้าผ่าอีกครั้ง หัวหน้าสถานีวิจัยมีภารกิจที่จะไปตามดูร่องรอยเสือตัวเมียอายุมากที่นักวิจัยที่นี่คุ้นเคยกับถิ่นที่อยู่ของมัน และเสือเกือบทุกตัวที่สถานีวิจัยได้แยกแยะลายของมันไว้จะถูกตั้งชื่อ

และเรากำลังจะไปตามร่องรอยของเสือรุ่นป้า ที่กินเหยื่อไว้ที่ป่าด้านทิศใต้ของซับฟ้าผ่า เมื่อวานนี้

ชื่อของเธอคือบุบผา

รถของหัวหน้าพาเรามาจอดที่ข้างถนนลำลองที่เป็นเส้นทางตรวจการ หัวหน้าให้เจ้าหน้าที่วิจัยสองคนนำกล้องมาติดที่สองฝั่งถนนใกล้บริเวณที่รถเราจอดอยู่

อ้าว เสือมันเดินมาตามถนนแบบนี้ด้วยหรือครับผมมองหน้าหลังอย่างหวาดๆ

เสือก็เหมือนคนแหล่ะครับ มันก็เดินตามทางที่โล่งสะดวกกล้องดักถ่ายก็ถ่ายได้ตามถนนที่เรามานี่แหล่ะเยอะ

เมื่อรู้ว่าเราอยู่กลางถิ่นที่อยู่ของบุบผา แม้รู้ว่ามันจะจากไปแล้วจากข้อมูลตำแหน่ง GPS แต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะระแวง

ผมค่อยๆ เดินตามทีมวิจัยเข้าไปบริเวณตำแหน่งที่บอกจากดาวเทียม ในป่าโปร่งๆ ที่เดินลัดจากถนนมาสองสามร้อยเมตร ขณะที่ผมไม่เห็นร่องรอยผิดปกติอะไร หัวหน้าก็ชี้ให้ดูร่องรอยของเสือที่แหล่งน้ำเล็ก เป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ ที่วนเวียนมากินน้ำ หัวหน้าอธิบายว่าแหล่งน้ำที่ซึมมาตามรอยแยกของหินตรงนี้มีความสำคัญมากในการเลือกถิ่นที่อยู่ของมัน เพราะในละแวกนี้มีตาน้ำที่มีน้ำทั้งปีซึมๆ เป็นแอ่งอยู่ที่เดียว

นั่นหมายความว่า เสือต้องประกาศอาณาเขตและยึดครองด้วยกำลัง และการต่อสู้

นักวิจัยของสถานีก้มลงดมอะไรที่ต้นไม้ เรียกผมเข้าไปดม กลิ่นฉุนกึกเข้าจมูกผม

นี่เป็นรอย Spray เมื่อไม่นานมานี้ของเสือครับความหมายของ Spray ที่เป็นศัพท์เทคนิคก็คือการที่เสือมาฉี่รดประกาศอาณาเขตของมันนั่นเอง

เรามาหยุดตรงลานกรวดที่ร่องรอยคล้ายๆ มีใครลากสิ่งของผ่านไปชัดเจน มีขนสัตว์ตกอยู่ และมีรอยเลือด ให้พวกเราติดตามไป

เราเดินตามรอยลากนั้นไปเรื่อยหลายสิบเมตร จนในที่สุดรอยลากนั้นก็สิ้นสุดลง แทบไม่มีอะไรเหลือให้เห็นนอกจากขนกวาง หัวหน้าอธิบายว่า บุบผาแก่มากแล้วจับสัตว์ใหญ่ไม่ไหว ส่วนมากเหยื่อของนางเป็นกวางตัวเล็ก และเสือก็จะกินจนแทบไม่เหลือซาก เมื่อนักวิจัยพยายามหาชิ้นส่วนต่อไปก็พบกีบและเศษกระดูกที่บอกว่าเป็นกวางตัวเล็กจริงๆ

นักวิจัยแห่งเขานางรำก็ทำหน้าที่ถ่ายรูปเก็บข้อมูลของเขาในขณะที่ผมกำลังนึกถึงบุบผาที่อยู่สักแห่งไม่ไกลจากเรา นี่เป็นครั้งแรกที่ผมกับเสืออยู่ในถิ่นที่อยู่ของมันโดยไม่มีกรงกั้น

และผมก็นึกถึงสมโภชน์ และทีมวิจัยหนุ่มสาว ที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในป่า เพื่อทำในสิ่งที่เขาเลือกว่าจะสร้างองค์ความรู้เพื่อสามารถวางแผนในการอนุรักษ์สัตว์ใหญ่ที่ฟ้าดินประทานความเป็นเจ้าป่า บนสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศธรรมชาติของป่าบ้านเราให้มากที่สุด แน่นอนละว่าหากยังมีเสืออยู่ได้ในป่าใหญ่ ย่อมมีเหยื่อของเสือ อย่างกระทิง วัวแดง กวาง เก้ง อีกนับไม่ถ้วนเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของเสือเกือบสองร้อยตัวที่ยังเหลือในป่าตะวันตก ซึ่งจำนวนสิบเปอร์เซ็นต์ของเสือในโลกยังมีชีวิตที่อิสรเสรีอยู่ในป่าที่ประเทศไทยเลือกที่จะอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มข้น

วันนี้มีนักวิจัยจากต่างประเทศมาเรียนรู้มากมายที่สถานีวิจัยเล็กๆ กลางป่านี้ และนักวิจัยเสือของที่นี่ก็ได้รับเชิญไปช่วยแก้ปัญหาการอนุรักษ์ป่าถึงในต่างประเทศ ไม่นับว่าข้อมูลของลายเสือที่ว่ามาจะเป็นหลักฐานสำคัญในทางวิทยาศาสตร์ และทางกฎหมายที่มัดตัวพรานล่าเสือจากประเทศเพื่อนบ้านที่บังอาจมาลักลอบล่าถึงที่นี่ และถ่ายรูปเสือไว้แต่อ้างว่าเป็นเสือในต่างประเทศ ข้อมูลลายเสือของทีมวิจัยเป็นหลักฐานชัดว่าเสือเคราะห์ร้ายตัวนั้นมีอาณาเขตถิ่นที่อยู่ที่นี่เอง

ผมรู้สึกภูมิใจแทนประเทศไทยจริงๆ ที่ยังมีเสืออยู่ในจำนวนประชากรที่ยังมีความหวังว่าจะรักษาเผ่าพันธุ์สายพันธุ์เสืออินโดจีนไว้ได้ในป่าแห่งนี้

และภูมิใจที่เรามีสถานีวิจัย และนักวิจัยมีฝีมือ ความรู้ และหัวใจที่ระดับเดียวกับเสือใหญ่ที่เขาติดตามมัน 

 


เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2558
ภาพเปิดเรื่อง ม..ปริญญากร วรวรรณ 

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)