มูลนิธิสืบนาคะเสถียรก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร ที่ต้องการรักษาป่าใหญ่ที่มีสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งได้รับการยอมรับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหลังการอัตวินิตบาตกรรมของเขาในเวลา 1 ปีต่อมา รวมถึงขยายผลความตั้งใจในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าโดยรอบในลักษณะของกลุ่มป่าผืนใหญ่ที่อยู่ด้านเหนือและด้านใต้ของพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกที่ปัจจุบันรับรู้กันโดยทั่วไปในชื่อ “กลุ่มป่าตะวันตก” ที่มีพื้นที่ป่ากว่าสิบสองล้านไร่ ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครองสภาพธรรมชาติที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 17 แห่ง
.
ห้วยขาแข้ง–ทุ่งใหญ่ฯ
ในช่วงสิบปีแรกของการทำงานสืบสานเจตนารมณ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำงบประมาณที่ได้จากการบริจาคสนับสนุนการทำงานให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันทรัพยากรทั้งวัสดุอุปกรณ์ และระบบการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามากมายหลายโครงการ การจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า กองทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยสัตว์ป่า การวางรากฐานกิจกรรมเผยแพร่ความรู้นิเวศวิทยาป่าไม้ การจัดประชุมสัมมนาและการเผยแพร่สถานการณ์ภัยคุกคามป่าต่อสาธารณะชน รวมถึงการสร้าง “อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร” เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจให้กับอุดมการณ์ของคนรักษ์ป่าทั่วประเทศ
.
ป่าตะวันตก
ตั้งแต่ปี 2543 หรือราวสิบห้าปีที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรเริ่มขยายบทบาทการทำงานไปสู่การขยายผลการจัดการกลุ่มป่าตะวันตกโดยการก่อตั้งกองทุนป่าตะวันตกเพื่อสนับสนุนให้กรมป่าไม้พัฒนาโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตกให้เกิดการสำรวจข้อมูลเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบ และฝึกอบรมเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วทั้งป่าตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมทักท้วงโครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่า สิ่งแวดล้อม และชุมชน ในระดับนโยบายและโครงการอย่างต่อเนื่อง
ในราวสิบปีที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรตัดสินใจพัฒนาบทบาทในการทำงานเป็นองค์กรปฏิบัติการในภาคสนามป่าตะวันตกเพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดการความขัดแย้งและการสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าระหว่างชุมชนกว่าหนึ่งร้อยแห่งที่ถูกการประกาศพื้นที่คุ้มครองสภาพแวดล้อมทั้งอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกาศพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ใช้ประโยชน์ดั้งเดิมของชุมชน และขยายการทำงานไปสู่การทำงานเพื่อสร้างชุมชนร่วมอนุรักษ์ป่าร่วมกับชุมชนที่อยู่ประชิดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองมากกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบชุมชน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งทุนต่างๆ เป็นจำนวนเงินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท
ผลสำเร็จที่ชัดเจนของการทำงานได้แก่การอำนวยการให้เกิดการสำรวจฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการขอบเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการชุมชนเป็นแผนที่ที่ได้ถือปฏิบัติยอมรับ มีข้อตกลงการอยู่ร่วมกันโดยไม่ขยายพื้นที่ และร่วมอนุรักษ์ทรัพยากร ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการจอมป่า โดยมีบันทึกข้อความของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้ใช้ข้อมูลนี้ในการบริหารจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในป่าอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยต่างเคารพในสิทธิ และกติกาการอยู่ร่วมกัน
ปัจจุบัน ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ได้เกิดกิจกรรมการเดินลาดตระเวนร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถควบคุมแนวเขตชุมชนตามข้อตกลงไม่มีการขยายรุกป่า ขณะเดียวกันก็ไม่คดีจับกุมชาวบ้านในข้อหาบุกรุกป่าอีก เป็นผลงานรูปธรรมที่เป็นต้นแบบการจัดการให้พื้นที่อื่นๆ ได้อย่างดี ในขณะที่พื้นที่คุ้มครองอื่นๆ ที่มีชุมชนอยู่ภายในก็ใช้แนวเขตที่สำรวจร่วมกันนี้อยู่ร่วมกันตามข้อตกลงได้เป็นส่วนใหญ่
.
ชุมชนรอบป่าตะวันตก
รอบป่าตะวันตกชุมชนที่อยู่ประชิดพื้นที่อุทยาแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เกือบตลอดแนวป่าในระยะกว่าสองร้อยกิโลเมตร ได้ขอขึ้นทะเบียนแนวหย่อมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ยังเหลืออยู่กลางไร่นา ให้เป็นป่าชุมชนเพื่อเป็นคลังอาหาร ต้นน้ำ แหล่งสมุนไพร และเก็บของป่าขายเสริมรายได้ ภายใต้การหนุนเสริมความเข้มแข็งชุมชน และประสานงานการขึ้นทะเบียนแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านการทำงานโครงการกับกรมป่าไม้ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลตัวอย่างของป่าชุมชนเหล่านี้ มีผลผลิตที่ชุมชนและคนภายนอกเข้ามาใช้ประโยชน์มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่าสิบล้านบาทต่อป่าทุกปี นับว่าป่าชุมชนเหล่านี้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากนับร้อยล้านบาท
กิจกรรมหนุนเสริมวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่านับพันโครงการได้นำร่องกระจายไปทั่วทุกหมู่บ้าน ปัจจุบันเกิดบ้านเรียนรู้ที่ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต สามารถเลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่มีการขยายรุกป่า และมีรายได้มาพออย่างมั่นคง เกิดกลุ่มที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างน้อย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบส่งต่อไปผลิตยาที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ กลุ่มผ้าทอจอมป่า กลุ่มปลูกกาแฟทดแทนพืชเชิงเดี่ยว ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมนำร่องเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เช่น โรงตีมีด เครือข่ายสุขภาพชุมชน การฟื้นฟูพืชป่าอย่างมะอิกระวาน ไผ่ บุก ผักหวาน เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะรายได้และการลดรายจ่ายของชุมชนในป่าย่อมมีผลต่อความจำเป็นในการขยายพื้นที่เกษตรกรรมรุกป่า และการล่าสัตว์ป่าโดยตรง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีส่วนสำคัญในการก่อสร้างและผลักดันโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันรักษาป่าที่สำคัญหลายแห่ง ได้แก่ การริเริ่มสนับสนุนให้เกิดหน่วยพิทักษ์ป่าทีชอแม บริเวณเส้นทางชุมชนเข้าสู่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก หน่วยพิทักษ์ป่ากุยเลอตอ บริเวณเส้นทางชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จุดสกัดพะบ่ง บริเวณล่อแหลมในการเข้าล่าสัตว์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และการระดมทุนเพื่อสร้างปราการทางน้ำกึงไกล สกัดการล่าสัตว์ป่าทางลำน้ำแม่กลองเข้าสู่ป่าห้วยขาแข้ง
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาบทบาทที่สำคัญยิ่งของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคือการทักท้วงโครงการพัฒนาที่จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศสัตว์ป่า แทบจะกล่าวได้ว่าหากไม่มีการทำงานหาข้อมูลวิชาการเพื่อเสนอเหตุผลในการทักท้วงโครงการระบบนิเวศในป่าตะวันตกคงเสื่อมสภาพจากการตัดถนนผ่านป่าที่สำคัญ การขุดอุโมงค์ผันน้ำผ่านป่า กิจกรรมเหมืองแร่ และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกลางป่าหลายแห่ง รวมถึงการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ผลการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเพื่อนพ้ององค์กรอนุรักษ์ในป่าตะวันตก ร่วมกับฝ่ายราชการ และภาคีประชาสังคม ทำให้วันนี้ผืนป่าตะวันตกยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของสัตว์ป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีข้อมูลวิชาการสัตว์ป่ารองรับมากมายว่าการอนุรักษ์อย่างเข้มข้นทำให้มีสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะปริมาณเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนที่มีในธรรมชาติมากที่สุดในโลก และยังคงมีประชากรสัตว์ป่าขนาดใหญ่อยู่อาศัยดำรงสายพันธุ์อย่างมั่นคง ทั้ง ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ นกยูง และควายป่า ที่เหลือเพียงหนึ่งในสี่ฝูงของโลก
นอกจากการทำงานอย่างเข้มข้นในผืนป่าตะวันตก กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าได้ช่วยเหลือครอบครัวของผู้พิทักษ์ป่าที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่นับร้อยคน มอบทุนการศึกษาให้บุตรผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องอีกปีละหลายสิบทุน โดยใช้งบประมาณจากการบริจาคจากสาธารณะชน
ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังเป็นองค์กรหลักระดับประเทศที่สื่อสารความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบนิเวศป่าไม้ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างเพื่อให้สาธารณะชนรับรู้และเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์สืบสานเจตนาให้คุณสืบ นาคะเสถียรต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยยังคงมีป่าตะวันตกเป็นต้นน้ำลำธาร และแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศไทย และโลกของเราให้ยาวนานที่สุดเท่าที่พวกเรา และนักอนุรักษ์รุ่นต่อไปยังมีแนวร่วม และการสนับสนุนจากสาธารณะชนอย่างที่ผ่านมายี่สิบห้าปี
เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2558
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)