คุยกับ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ถึงสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์โดยมนุษย์ในยุคแอนโทรโปซีน

คุยกับ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ถึงสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์โดยมนุษย์ในยุคแอนโทรโปซีน

นับตั้งแต่บรรพกาล “โลก” ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในระบบสุริยะจักรวาล ได้ผ่านพบสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้มาแล้วถึง 5 ครั้ง หากว่ากันในเชิงวิทยาศาสตร์เสมือนเป็นการรีเซ็ตชนิดพันธุ์ในธรรมชาติโดยธรรมชาติ

แต่การสำหรับ The Sixth Extinction ที่กำลังจะมาถึงในครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนมองตรงกันว่า เกิดจากฝีมือของมนุษย์ อันเป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอิทธิพลมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรชวน ‘ดร.ชวลิต วิทยานนท์’ กรรมการวิชาการมูลนิธิสืบฯ และนักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำในประเทศไทย มาพูดคุยเรื่องการสูญพันธุ์ในยุคแอนโทรโปซีน ในเวที Seub Talk เนื่องในวาระ 31 ปี สืบ นาคะเสถียร
.

‘แอนโทรโปซีน’ (Anthropocene) คืออะไร ?

จริง ๆ แล้วโลกของเราสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายช่วง ตั้งแต่ยุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) ยุคมีโซโซอิก (Mesozoic) ยุคซีโนโซอิก (Cenozoic) ยุคครีเทเชียส (Cretaceous) และยุคไพลสโตซีน (Pleistocene)

ในแต่ละยุคจะมีการสูญพันธุ์ขั้นกลางอยู่ระหว่างยุค ซึ่งการสูญพันธุ์แต่ละครั้งล้วนเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อาทิ สภาพการผันแปรของภูมิอากาศ หรือกรณีอุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลกที่มักจะเกิดขึ้นในรอบหลายล้านปี ซึ่ง ‘แอนโทรโปซีน’ (Anthropocene) ก็เป็นชื่อยุคที่มีการบัญญัติขึ้นมาใหม่ภายหลัง

โดยมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ ภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งล้วนเกิดจากการฝีมือมนุษย์เป็นปฐม นักภูมิศาสตร์จึงได้ตั้งชื่อยุคนี้ว่าแอนโทรโปซีน ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน
.

การหายไปของสิ่งมีชีวิตใน ‘แอนโทรโปซีน’

เขาพบว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในยุคนี้ ถ้านับเป็นนาทีต่อก็อาจจะหลายชนิดพันธุ์ที่หายไป โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เปราะบางมาก ๆ รวมไปถึงสัตว์ขนาดใหญ่ที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งหากลองเทียบการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันกับการสูญพันธุ์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ จะพบว่าสัตว์และพืชในยุคแอนโทรโปซีนมีอัตราการสูญพันธุ์ที่เร็วกว่าสมัยไดโนเสาร์ ประมาณ 7,500 เท่า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คิดว่าถ้าปัจจุบันมีการศึกษาเก็บข้อมูล จำนวนการสูญพันธุ์อาจจะมากกว่านี้

ขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ กว่าไดโนเสาร์ตัวแรกถึงตัวสุดท้ายหมดไปจากโลก มันใช้เวลาเกือบ ๆ ล้านปี อย่างกรณีของแมมมอธที่กว่าจะสูญพันธุ์ก็ใช้เวลาหลายแสนปี ซึ่งก็พบว่าการที่แมมมอธสูญพันธุ์เร็วกว่าไดโนเสาร์ ก็เพราะมนุษย์ไปมีส่วนช่วยในการล่าเอาไปใช้ประโยชน์ ทำให้เขาสูญพันธุ์ไปครับ
.

‘สมัน’ และ ‘กูปรี’ สปีชีส์ที่หายไปจากหน้าอนุกรมวิธาน

‘สมัน’ เป็นกวางชนิดหนึ่งที่เขาบอกกันว่าเขาของมันสวยที่สุดในโลก แต่ถ้ามาทำความเข้าใจกันจริง ๆ สมันไม่ได้สูญพันธุ์ไปเพราะความสวยงามของเขา แต่เกิดจากปัจจัยการพัฒนาที่ส่งผลให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากเกินไป

อดีตสมันเคยมีประชากรที่ชุกชุมอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เชื่อมต่อทางระบบนิเวศที่สำคัญของสัตว์ป่า ในการใช้เดินทางและกระจายพันธุ์จากป่าตะวันตกไปยังป่าตะวันออก โดยในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา บริเวณดังกล่าวถูกบุกเบิกพื้นที่ เพื่อรองรับการเติบโตทางการเกษตร มีการขุดลำคลองตามระบบชลประทานขึ้นมากมาย เพื่อเปิดเส้นทางให้มวลน้ำได้ไหลจากแม่น้ำสู่ท้องนาต่าง ๆ โดยสะดวก สอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจที่ขณะนั้นสยามเริ่มมีส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ

เมื่อพื้นที่อาศัยของสมันถูกบุกรุกจึงทำให้มนุษย์มีความใกล้ชิดกับสมันมากขึ้น เกิดการล่าเพื่อนำชิ้นส่วนหรืออวัยวะไปผลิตเป็นเครื่องดำรงชีพ นอกจากนี้การเข้ามาของชาวตะวันตกเอง ก็ส่งผลให้เกิดการเผยแพร่วัฒนธรรมการล่าสัตว์ป่าเพื่อความบันเทิง อันนำไปสู่การเริ่มล่าในลักษณะเกมกีฬามากขึ้นในหมู่ชนชั้นสูง สมันในพื้นที่ภาคกลางจึงลดจำนวนอย่างรวดเร็ว แม้ในช่วงหลังจะเริ่มมีการดูแลสมันที่ยังมีชีวิตอยู่ในเขตเมือง แต่ช่วงเวลาดังกล่าวการอนุรักษ์ยังไม่มีหลักวิชาการมากพอ ส่งผลให้สมันสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ขณะที่ ‘กูปรี’ ซึ่งเป็นสัตว์เท้ากีบขนาดใหญ่ ที่เคยพบเห็นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณป่าในประเทศแถบอินโดจีน ก็สูญพันธุ์ไปด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร กรณีศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา เมื่อคราวเกิดสงความกลางเมืองนำโดยกลุ่มเขมรแดง ซึ่งมีการใช้ยุทธวิธีทำการรบด้วยการฝังกับระเบิดในพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดข้อสังเกตว่า กูปรีสูญพันธุ์ไปจากกัมพูชาจากการเหยียบกับระเบิดตาย

สรุปได้ว่า การสูญพันธุ์ของพวกเขาเหล่านี้ ประกอบจากเหตุผลหลักสองอย่างคือ ระบบนิเวศหรือถิ่นอยู่อาศัยของเขาถูกทำลายไปจนหมด เหตุผลที่สองคือตัวเขาเองก็ถูกล่าและก็ไม่ได้ถูกนำมาอนุรักษ์ในหลักวิชาการเท่าที่ควรในสมัยนั้น

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างสัตว์ชนิดหนึ่งของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่สูญพันธุ์ไป ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
.

 

การขยายตัวของชุมชน และผลเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในระบบนิเวศเมือง

สัตว์ป่าอื่น ๆ รวมถึงสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่สูญพันธุ์หรือหายไปมีมากมายหลายสิบชนิดครับ เอาภาพรวมที่เราเคยเห็นง่าย ๆ ว่าเมื่อก่อนเวลามีการเปิดไฟตอนกลางคืน แมลงจะบินมาตอมเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพบว่าแมลงที่มาตอมแสงไฟมีจำนวนลดลง ก็เชื่อได้ว่าถ้ามีการศึกษาจริง ๆ จะพบว่าหลายชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว

แต่ทีนี้เรามาดูสัตว์ป่าที่เห็นกันง่าย ๆ อย่างเมื่อก่อนพื้นที่ใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ยังมีสภาพเป็นบ้านสวน และป่ารกร้าง ก็จะมีสัตว์ป่าอย่างน้อยสองชนิดที่หายไปจากสายตาเรา ซึ่งเขาเป็นสัตว์ป่าขนาดปานกลางคือ ‘เสือปลา’ และ ‘นิ่ม’

สมัยก่อนถ้าคนพบเสือปลา ก็อาจจะถูกล่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเห็นว่าเป็นเสือก็ยิง ยิงเพื่อความสนุกบ้าง ยิงเพราะกลัวบ้าง อีกส่วนหนึ่งระบบนิเวศของเสือปลาจะอยู่ตามป่าละเมาะแถบชายบ้าน แม้เขามีชื่อว่าเสือปลา แต่เขากินหนูเป็นอาหารหลัก ทั้งหนูที่อยู่ตามบ้าน หรือที่อยู่ในธรรมชาติ กินปลาบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งเมื่อระบบนิเวศของกรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม หรือย่านจัดสรรหมดป่ารกร้างต่าง ๆ เสือปลาก็หมดไปจากชานเมืองด้วย

อีกชนิดหนึ่งที่ผมพูดถึงคือตัวนิ่ม เมื่อก่อนตัวนิ่มกับเสือปลาก็จะอยู่ในที่ใกล้ ๆ กัน ตามบ้านสวนต่าง ๆ เพราะว่าอาหารของเขาหาได้ไม่ยาก เขากินปลวกกับมดที่มีขนาดใหญ่มีมดแดง และมดดำ เป็นอาทิ กลางวันเขาจะหลบอยู่ตามป่าหรือตามพุ่มไม้ กลางคืนก็จะออกมาหากิน

ปัจจุบัน IUCN ประเมินว่านิ่มเป็นสัตว์เข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤติ เทียบเท่ากับเสือโคร่ง หรืออาจจะมีสถานภาพที่เกือบ ๆ จะแย่กว่า เพราะว่ายังไม่มีมาตรการอนุรักษ์ตัวนิ่มอย่างแท้จริง และยังถูกคุกคามจากมนุษย์อยู่เนื่อง ๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารเป็นยาบำรุงตามความเชื่อโบราณ

นี่คือตัวอย่างสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่เคยอยู่รอบตัวเราตามเทือกสวนไร่นาหรือพื้นที่รกร้างใกล้ชุมชน ที่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์หายไปจากชายบ้านและชานเมืองแล้ว
.

การสร้างเขื่อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ คือปัจจัยเร่งการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำจืด

อีกสาเหตุหนึ่งของการสูญพันธุ์คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในยุคแอนโทรโปซีน สิ่งแรกที่จะเห็นบ่อย ๆ และเคยคิดว่ามันมีประโยชน์เอนกอนันต์ก็คือ ‘การสร้างเขื่อน’

เขื่อนมีประโยชน์ในด้านการกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ตามต้องการได้เกือบทั้งปี และอาจจะป้องกันน้ำท่วมได้ระดับเล็กน้อยเท่านั้น แต่โดยธรรมชาติแล้วเขื่อนอาจจะทำให้ภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม

ซึ่งเขื่อนมีความสัมพันธ์ต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทั้งในระดับประชากร ระดับท้องที่ ไปจนถึงสูญพันธุ์ในระดับประเทศ หรือหมดไปทั้งโลกก็เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างสัตว์ที่สูญพันธุ์จากสร้างเขื่อนถ้าเป็นรุ่นแรก ๆ ที่เราพอรู้จักคือเรื่องการสูญพันธุ์ในระดับเฉพาะที่ ก็คือ ‘กุ้งกล้ามกราม’

เมื่อก่อนเราจะพบกุ้งกล้ามกรามได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากแม่น้ำไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ แต่พอมีการสร้างเขื่อนชัยนาทก็พบว่าตั้งแต่เหนือเขื่อนไปไม่มีกุ้งกล้ามกรามอีกเลย เนื่องจากลูกกุ้งไม่สามารถหากินในพื้นที่ต้นน้ำได้ (ตามธรรมชาติของกุ้งกล้ามกลามจะวางไข่และฟักตัวอยู่ปลายลำน้ำ และจะขึ้นไปหากินบริเวณต้นน้ำในช่วงโตเต็มวัย)

แม้จะมีการเพาะเลี้ยงในเวลาต่อมา ก็ถือเป็นการขาดช่วงวงจรชีวิตของเขา เพราะเขาจะต้องลงมาวางไข่ข้างล่าง ก็ต้องอาศัยช่วงเวลาที่เปิดเขื่อนถึงจะลงมาวางไข่ที่ปลายน้ำได้

อีกชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากลำน้ำคือ ‘ปลายี่สก’ ซึ่งเมื่อก่อนพบในแม่น้ำเจ้าพระยา และในแม่น้ำแม่กลอง แต่ปัจจุบันก็ไม่มีใครได้พบเห็นอีกแล้ว เหตุผลคือการสร้างเขื่อนในลำน้ำ ซึ่งทำให้ปลายี่สกไม่สามารถขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำได้
.

ปัจจัยสอดคล้องเรื่องการสูญพันธุ์กับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองไทย อย่างแรกที่ต้องพูดถึงคือ ‘เรื่องกลไกการบริการของระบบนิเวศที่สูญเสียไป’ อย่างแรกที่เป็นปัจจัยสำคัญของเราคือ ‘น้ำ’ การที่ป่าต้นน้ำหายไป เหลือเพียงเล็กน้อยในพื้นที่อนุรักษ์ไม่กี่แห่ง ทำให้วัฏจักรน้ำเริ่มมีปัญหา ตอนนี้คนไทยเริ่มพบกับภาวะขาดแคลนน้ำจืดในบางฤดู และในบางฤดูก็น้ำท่วมมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปัจจัยถัดมาคือการหายไปของแมลงบางชนิด ที่ยังไม่มีข้อมูลสำรวจชัดเจนแต่ก็พบว่า แมลงหลายชนิดกำลังหมดไป ส่งผลให้นกหลายชนิดมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไปด้วย

ท้ายที่สุดก็เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยตรง ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ โดนเฉพาะไม้ผลหลายชนิดที่เริ่มมีการติดผล – ติดดอกน้อยลง เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ย – สารเคมี หรือว่าจ้างคนไปผสมดอกไม้ กรณีตัวอย่างคือทุเรียน ซึ่งเราพบว่าเมื่อก่อนทุเรียนมีการติดผลตามธรรมชาติได้อย่างดี แต่ปัจจุบันจะต้องมีการผสมโดยคน ซึ่งต้องมีการว่าจ้างคนเอาพู่กันไปป้ายเกสรตัวผู้ไปแตะที่เกสรตัวเมียของดอกทุเรียน เพื่อให้ทุเรียนมีการติดผล ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ผลผลิตของทุเรียนในปีนั้นก็จะไม่ได้มากเพียงพอ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ ‘ค้างคาว’ และ ‘แมลง’ ที่มีหน้าที่ผสมเกสรของดอกทุเรียน เกิดสูญพันธุ์หายไปจากระบบนิเวศ

ซึ่งมันไม่ได้สูญพันธุ์เพราะมนุษย์ไปล่ามันหรอก แต่มันอาจจะสูญพันธุ์ไปเพราะเราใช้สารเคมีในการเกษตรที่เป็นพิษ หรือเราไปทำลายถิ่นอาศัยของมัน อันนี้ก็เป็นผลกระทบที่แสดงให้เห็นว่าเรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอยู่
.

ประเทศไทยและในเวทีโลกให้ความสำคัญเรื่องการสูญพันธุ์มากแค่ไหน

ถ้าในระดับเวทีโลกตอนนี้เราก็เป็นหนึ่งในภาคีร่วมอยู่ในสมาชิก ‘อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ’ (Convention on Biological Diversity : CBD) ซึ่งเราก็พยายามอนุรักษ์ หรือปรับปรุงกฎหมายและวิธีการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว เช่น การทำฐานข้อมูลทางชีวภาพในเรื่องของการเพิ่มมาตรการการลงทุนต่าง ๆ เพื่อดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อยู่บ้างมากกว่าเมื่อก่อน แต่ก็ยังไม่มากเท่าที่ควร เพราะตอนนี้ภาวะคุกคามที่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ มันมีมากมายเหลือเกิน

ทั้งเรื่องเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในการทำกินต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดสรรที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม ก็ทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติสำคัญ (ที่เหลืออยู่ไม่มาก) ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ การรับนิเวศบริการจากธรรมชาติได้ แต่ในระดับนโยบายก็ยังไม่ให้ความสำคัญ หรือดูแลเรื่องนี้มากเท่าที่ควร

ในเรื่องของโครงการหรือวิธีการต่าง ๆ ที่จะไปกระทบต่อระบบนิเวศดั้งเดิม ยังมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ด้วยนโยบาย เพื่อที่จะนำงบประมาณมาใช้ เพื่อจะเกิดผลประโยชน์ด้านธุรกิจต่าง ๆ ทั้งทางตรงทางอ้อม ทั้งทางที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของเราทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้การดูแล และทบทวนกิจกรรมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่กระทบต่อระบบนิเวศ

โดยเฉพาะการทำ EIA (Environmental Impact Assessmen หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ต่าง ๆ เราอาจจะต้องมีการทบทวน หรือต้องทำให้การดูแลเรื่องนี้ให้ถูกต้องมากกว่าที่ผ่านมา

ท้ายที่สุด อยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่ออุณหภูมิโลก และผู้ที่จะลำบากมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นมนุษย์โลก

แอนโทรโปซีน

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ