คนสวนใต้น้ำ : ฟื้นฟู “หญ้าทะเล” เพื่ออนุรักษ์มหาสมุทร

คนสวนใต้น้ำ : ฟื้นฟู “หญ้าทะเล” เพื่ออนุรักษ์มหาสมุทร

ทีมวิจัยกำลังเตรียมดำน้ำตื้นบริเวณอ่าวเดลในประเทศเวลส์ ส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร พวกเขากำลังทำภารกิจตรวจสอบการฟื้นฟูหญ้าทะเลชนิดพันธุ์ท้องถิ่น Zostera marina หรือที่รู้จักในชื่อหญ้าปลาไหล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหญ้าทะเล (Project Seagrass) ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2014 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการไม่แสวงหากำไรที่มุ่งฟื้นฟูหญ้าทะเลพร้อมกับทำงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ทั่วโลก

สิ่งที่เราทำไม่ต่างจากการทำสวนใต้น้ำริชาร์ด ลิลลีย์ (Richard Lilley) ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Project Seagrass กล่าว

“แหล่งหญ้าทะเล” คือระบบนิเวศของไม้มีดอกบริเวณน้ำตื้นซึ่งพบตั้งแต่เขตอบอุ่นไปจนถึงอาร์กติกเซอร์เคิล ยกเว้นบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา ทั่วโลกมีหญ้าทะเลกว่า 70 ชนิดพันธุ์ แหล่งหญ้าทะเลครอบคลุมพื้นที่ใต้มหาสมุทรกว่า 300,000 ตารางกิโลเมตรและพบใน 159 ประเทศทั่วโลก

แต่แหล่งหญ้าทะเลกำลังเผชิญภัยคุกคาม งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้พบว่าพื้นที่หญ้าทะเลในสหราชอาณาจักรกว่าร้อยละ 44 สูญหายไปนับตั้งแต่ปี ค.. 1936 และร้อยละ 39 สูญหายไปนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 สถานการณ์อาจเลวร้ายยิ่งกว่านี้ โดยมีการประมาณการว่าแหล่งหญ้าทะเลกว่าร้อยละ 92 ในสหราชอาณาจักรอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม

เมื่อมันมีเหลือน้อยมากๆ มันก็จะไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ด้วยตัวเองลิลลีย์กล่าว

หญ้าทะเลก็เหมือนพืชบนบกทั่วสหราชอาณาจักร มันจะเริ่มเติบโตในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ในช่วงฤดูร้อนมันจะเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ การเก็บเมล็ดพันธุ์สำหรับโครงการฟื้นฟูที่อ่าวเดลนั้น นักดำน้ำจะต้องว่ายไปอยู่ท่ามกลางหญ้าทะเล ค่อยๆ แกะเปลือกเมล็ดพันธุ์ออกแล้วนำกลับมาที่ห้องทดลอง

ตอนนี้เรามีเมล็ดพันธุ์กว่าครึ่งล้านเมล็ดลิลลีย์กล่าว

เมล็ดพันธุ์จะถูกกอบไปรวมในกระเป๋ากระสอบ ติดอยู่บนเชือกด้วยความห่างกระสอบละ 1 เมตร แล้วทิ้งไว้บนพื้นสมุทรใต้อ่าวเดล จากกลุ่มหญ้าเล็กๆ ก็จะขยายใหญ่เพื่อปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างโดยใช้เวลาราว 7 ถึง 10 ปี

การปลูกหญ้าทะเลที่นั่นจะทำให้ระบบนิเวศทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปลิลลีย์กล่าว

รายงานของหน่วยนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติ เรื่องการให้บริหารด้านความหลากหลายทางชีววิทยาและระบบนิเวศ ( Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services – IPBES) ระบุว่า แหล่งหญ้าทะเลรอบโลกมีจำนวนลดลงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ ทศวรรษนับตั้งแต่ปี 1970 ถึงปี 2000 เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่มลภาวะจากภาคเกษตรที่ไหลลงสู่ทะเล และการพัฒนาชายฝั่งแบบทำลายล้างซึ่งทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งหญ้าทะเลหายไป ยิ่งไปกว่านั้น การทอดสมอเรือ การใช้เรืออวนลาก และการประมงทำลายล้างต่างก็สร้างความเสียหายให้กับแหล่งหญ้าทะเล รวมทั้งทำอันตรายต่อสัตว์กินพืชที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศดังกล่าว สภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว ทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนสภาพเป็นกรดของมหาสมุทรซึ่งเกิดจากมนุษย์ต่างก็เป็นแรงผลักดันให้ระบบนิเวศอยู่ในภาวะอันตราย
.

หญ้าทะเล l Photo : courtesy of Nina Constable/WWF-UK

.

แหล่งหญ้าใต้น้ำที่ถูกคุกคาม

ความพยายามแรกๆ ในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเริ่มขึ้นในรัฐเวอร์จิเนียร์เมื่อปี 1997 นับตั้งแต่มีคนในชุมชนพบแหล่งหญ้าทะเลเติบโตที่ชายฝั่งแอตแลนติก เป็นเวลาหลายปีที่ไม่เคยมีรายงานพบเห็นหญ้าทะเลดังกล่าว ในปี 1933 คนในชุมชนเชื้อว่าแหล่งหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งทั้งหมดถูกทำลายเนื่องจากโรคเมือกเชื้อราระบาดและพายุเฮอร์ริเคน แต่ด้วยเหตุใดก็ตามมันหาทางรอดมาได้

โรเบิร์ต เจ. โอท (Robert J. Orth) อาจารย์จาก Virginia Institute of Marine Science ที่ College of William and Mary ทำงานเรื่องนี้นับแต่ทศวรรษที่ 1970 ใกล้ๆ กับอ่าวเชสพีกซึ่งหญ้าทะเลยังคงอยู่รอด เขาร่วมงานกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเพื่อเริ่มปลูกหญ้าทะเลโดยใช้เมล็ดที่เก็บรวบรวมจากอ่าวเชสพีก

ทุกๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2001 จนถึงวันนี้ เราจะเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์จากอ่าวเชสพีกและปล่อยให้ธรรมชาติจัดการที่เหลือเขากล่าวในปี 2004 เราเริ่มเห็นการแพร่กระจายของแหล่งหญ้าจริงๆ การทำงานตลอดหลายปีทำให้เราปลูกหญ้าทะเลไปกว่า 70 ล้านเมล็ด

โครงการดังกล่าวปลูกหญ้าทะเลราว 1,250 ไร่ แต่แหล่งหญ้าทะเลได้แพร่กระจายออกไปเป็นพื้นที่กว่า 25,000 ไร่ เมื่อมีหญ้าทะเลระบบนิเวศใต้มหาสมุทรก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ เราพบปลาแองโชวี (Anchoa mitchilli) และซิลเวอร์ไซด์ (Menidia menidia) ปลาจาน (Lagodon rhomboides) และปูม้า (Callinectes sapidus)

เราพบปลาเกือบสี่เท่าตัวในแหล่งหญ้าทะเลหากเทียบกับพื้นที่ด้านนอก หรือก่อนที่จะมีการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลแคเรน แมคกลาเธอรี (Karen McGlathery) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียผู้มีบทบาทเรื่องการวิจัยผลประโยชน์การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์และการประมงจากการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล

นักอนุรักษ์ทางทะเลกล่าวว่าแหล่งหญ้าทะเลช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหารและโอกาสในการหารายได้แก่ชุมชนชายฝั่ง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลอาจเป็นโปรตีนพื้นฐานสำหรับชุมชนท้องถิ่น แหล่งหญ้าทะเลยังเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำที่ยอดเยี่ยม ช่วยสนับสนุนเรื่องการประมง ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และปกป้องชายฝั่งจากความเสียหายจากพายุหรืออุทกภัย

ถึงแม้ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะมองข้ามความสำคัญของหญ้าทะเล แต่บทบาทของระบบนิเวศนี้เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันระบบนิเวศดังกล่าวได้ถูกบรรจุอยู่ในเป้าหมายการฟื้นฟูระบบนิเวศแห่งทศวรรษโดยองค์การสหประชาชาติ (U.N. Decade on Ecosystem Restoration)
.

ช่วยโลกด้วยแหล่งกักเก็บคาร์บอนสีฟ้า 

โครงการที่เวอร์จิเนียนับเป็นตัวอย่างสำคัญที่บ่งบอกถึงศึกยภาพของแหล่งหญ้าทะเลในการกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งภายหลังข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015

แหล่งหญ้าทะเลและป่าชายเลน คือพื้นที่สำคัญในการกักเก็บคาร์บอนที่เราเรียกว่า คาร์บอนสีฟ้าโรเบิร์ต เจ. โอท กล่าว หญ้าทะเลจะเก็บคาร์บอนไว้ในชีวมวลรวมถึงตะกอนดินใต้ทะเล นอกจากนี้ มันยังช่วยชะลอกระแสน้ำที่มีสารละลายคาร์บอนอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วยเมื่อกระแสน้ำช้าลง ก็มีโอกาสมากขึ้นที่สารละลายเหล่านั้นจะตกตะกอนลงที่พื้นสมุทรแคเรน แมคกลาเธอรี สรุป

มีการประมาณการว่าหญ้าทะเลจะสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่า 40 เท่าเมื่อเทียบกับป่าบนแผ่นดิน แต่ความแตกต่างดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ แหล่งหญ้าทะเลสามารถกักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทรได้ราวร้อยละ 18 ถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่เพียงร้อยละ 0.1 ของพื้นมหาสมุทรก็ตาม แหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานวิจัยพบว่าในระดับโลกนั้น ระบบนิเวศหญ้าทะเลสามารถกักเก็บคาร์บอนอินทรีย์ได้ถึง 19.9 พันล้านเมตริกตัน ซึ่งคิดเป็น 4 เท่าของการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของสหรัฐอเมริกาในปี 2020

แต่วิกฤติภูมิอากาศก็ทำให้หญ้าทะเลถูกคุกคามไปด้วยหากเกิดคลื่นความร้อนครั้งใหญ่ทำให้เราต้องสูญเสียแหล่งหญ้าทะเล ปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บไว้ในนั้นก็จะถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศแมคกลาเธอรีกล่าว
.

ระบบนิเวศมหาสมุทรที่เชื่อมโยงและยั่งยืน

แหล่งหญ้าทะเลไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบบนิเวศชายฝั่งอื่นๆ ที่ลุ่มน้ำท่วมถึง แนวปะการัง ป่าชายเลน ป่าเคลป์ และแหล่งหอยนางรม รวมทั้งสัตว์น้ำที่กินพืชอย่างเต่าทะเล มานาตี พะยูน และสัตว์ไม่มีกะดูกสันหลังอื่นๆ 

สัตว์ต่างๆ เคลื่อนที่สลับไปมาระหว่างระบบนิเวศเหล่านี้ การมีมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ย่อมทำให้สภาพโดยรวมค่อยๆ ดีขึ้นริชาร์ด ลิลลีย์ กล่าว

โครงการทดลองที่อ่าวเดลซึ่งตั้งเป้าฟื้นฟูหญ้าทะเลพื้นที่ขนาด 12.5 ไร่ ในเดือนสิงหาคมนี้ ทีมโครงการจะได้ดำน้ำที่ตอนเหนือของเวลส์ ในขณะที่โครงการในพื้นที่แห่งอื่นเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ขอบเขตของโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่เพียงแต่น่านน้ำของสหราชอาณาจักร แต่ยังมีการทำงานในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และติมอร์เลสเต 

หญ้าทะเลมีความสำคัญมากสำหรับประชาชนในห้าประเทศนี้ เพราะถ้ามหาสมุทรสิ้นความอุดมสมบูรณ์ก็จะส่งผลโดยตรงต่อประชาชนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากทะเลลิลลีย์กล่าว

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Underwater gardeners restore seagrass meadows to keep oceans healthy
เอกสารอ้างอิง
  • Green, A. E., Unsworth, R. K., Chadwick, M. A., & Jones, P. J. (2021). Historical analysis exposes catastrophic seagrass loss for the United Kingdom. Frontiers in Plant Science, 12. doi:10.3389/fpls.2021.629962
  • Unsworth, R. K., Bertelli, C. M., Cullen-Unsworth, L. C., Esteban, N., Jones, B. L., Lilley, R., … Rees, S. C. (2019). Sowing the seeds of seagrass recovery using hessian bags. Frontiers in Ecology and Evolution, 7. doi:10.3389/fevo.2019.00311
  • Unsworth, R. K., McKenzie, L. J., Collier, C. J., Cullen-Unsworth, L. C., Duarte, C. M., Eklöf, J. S., … Nordlund, L. M. (2019). Global challenges for seagrass conservation. Ambio, 48(8), 801-815. doi:10.1007/s13280-018-1115-y
  • Fourqurean, J. W., Duarte, C. M., Kennedy, H., Marbà, N., Holmer, M., Mateo, M. A., … Serrano, O. (2012). Seagrass ecosystems as a globally significant carbon stock. Nature Geoscience, 5(7), 505-509. doi:10.1038/ngeo1477

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก