[ก้าวสู่ปีที่ 31] จากชุมนุมกลางเมือง สู่ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก

[ก้าวสู่ปีที่ 31] จากชุมนุมกลางเมือง สู่ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก

กลางความวุ่นวายของเมืองในช่วงพฤษภาคม 2553 จำได้ว่าเป็นวันที่วันที่เสธ.แดงโดนยิง ผมกำลังเดินทางเข้าไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก พลังงานจากเครื่องปั่นไฟและจานดาวเทียมทำให้ข่าวสารติดตามผมไปได้เกือบทุกที่ แม้กระทั่งชายแดนของป่ามรดกโลก เราวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องนี้กันจนถึงดึกดื่น จากนั้นผมก็ปิดการรับรู้เรื่องสถานการณ์บ้านเมืองไปอีกหลายวัน

รถที่อาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนั่งไปนั้นเป็นคันขับนำทางเข้าไปในป่าดงดิบเขียวทึบ มีพงษ์ศักดิ์ ม่วงงาม หัวหน้าภาคสนามในพื้นที่กาญจนบุรีผู้มีความชำนิชำนาญการขับรถบนทางทุรกันดารขับนำร่องทาง ให้รถที่ผมขับตามไปรู้สภาวะที่จะเกิดขึ้นระหว่างพาหนะ ภูมิประเทศ รวมถึงวิธีการที่จะพาให้พ้นไปจากหล่มเนิน 

แต่แล้วตั้งแต่เนินแรกก่อนถึงหน่วยทิคอง พวกเราก็ต้องเริ่มแก้ปัญหาการพารถให้พ้นร่องลึกโดยวิธีการต่างๆ นาๆ ยังไม่นับการปีนบนทางหินโผล่และหน้าผาที่ทำให้รถเอียงจนหวาดเสียวว่าจะเสียหลัก แต่ในที่สุดแล้วเราก็ผ่านมาเรื่อยๆ อย่างเรียบร้อยแม้จะสะสมร่องรอยต่างๆ ไว้เต็มรอบรถ และรอยปริแยกของแก้มยาง

รถทั้งสองคันของเราบรรทุกเปลสนามและอุปกรณ์อื่นๆ ที่นำไปเยี่ยมเยียนผู้พิทักษ์ป่าตามหน่วยต่างๆ บนเส้นทางทินวยจะแก มีกำหนดผ่านไปยังทิคอง ซ่งไท้ ผ่านศาลพระฤๅษี ไปยังแม่กะสะ และจะแก ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยไกลที่สุด สาเหตุที่เราได้รับอนุญาตให้ผ่านเลยซ่งไท้เข้าไปได้ไม่ใช่เพราะการเข้าไปบริจาคของ หากแต่เป็นกำหนดการที่พวกเราได้รับเชิญจากคณะกรรมการที่ปรึกษาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้เข้าไปร่วมประชุมเกี่ยวกับข้อมูลพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนทั้งพื้นที่หมู่บ้านในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่นอกเขตทางตอนในซึ่งยังคงสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ กับตัวแทนชุมชนที่มาสมทบอีกฝั่งทางหนึ่ง และเป็นพื้นที่วัฒนธรรมหลายร้อยปีของพี่น้องกะเหรี่ยงโผล่วที่สำคัญตั้งแต่ขอบป่าสเนพ่อง กองม่องทะ เกาะสะเดิ่ง ทิไล่วป้า ไล่วโว่ ซาละวะ และจะแก

หลังจากการทำงานกับเจ้าหน้าที่และชาวบ้านมาหลายปี ผ่านหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์หลายคนทำให้วันนี้ข้อมูลพื้นที่การทำไร่ตามวิถีวัฒนธรรมเริ่มได้รับการยอมรับ ชื่อพื้นที่โซนต่างๆที่เป็นภาษาถิ่นถูกระบุลงบนแผนที่มาตราส่วนมาตรฐาน ขอบเขตไร่ เขตป่าถูกขีดขึ้นแน่นอนว่าอาจมีการคลาดเคลื่อนจากการสำรวจแต่ดั้งเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีที่ไม่ยอมจำแนกวิถีไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่พื้นที่อนุรักษ์บุกรุกประกาศทับออกจากไร่เลื่อนลอยของผู้บุกรุกจากภายนอกที่ทำลายป่าภายหลังประกาศพื้นที่อนุรักษ์

นี่คือผลของความพยายามของปราโมทย์ ศรีใย เจ้าหน้าที่ภาคสนามหนุ่มจากเมืองกรุงที่ทุ่มเททำงานข้อมูลและแผนที่อย่างมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะจากชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามานับปี

พื้นที่ทำไร่ที่มีชื่อภาษาท้องถิ่นมายาวนาน ย่อมเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าพื้นแผ่นดินทำกินของเขาไม่ได้เลื่อนลอยมาจากที่ใด

แน่นอนว่าความขัดแย้งเรื่องนี้ดำรงอยู่มานานทั้งในวิถีชีวิตที่ขัดกันของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ ชุมชนกะเหรี่ยงที่ไม่พูดภาษาไทยกับคนเมืองพื้นราบที่ไม่เข้าใจความแตกต่างของวิถีเกษตร และนี่ก็เป็นความแยกร้าวของชุมชนที่ไม่มีพื้นที่ให้อธิบายมายาวนาน แต่ในทางกลับกันเมื่อไร่ซากที่พักดินไว้ถูกถากถางทำไร่ข้าวโพดอย่างถาวร ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงสิ้นเชิง พื้นที่ถูกขยายและเปลี่ยนมือไม่น่าเชื่อว่าการทำลายป่าในลักษณะไทยๆ กลับได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่และพ้นข้อหาการทำไร่เลื่อนลอยไม่แปลกที่พื้นที่ป่าของคนกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่นจะถูกถางเตียนเพื่อได้รับการยอมรับและหมดปัญหาไป

แต่สิ่งที่ตามมาคือการต้องซื้อข้าวกิน การเป็นหนี้สินกับนายทุนขายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีวันปลดหนี้ ความเสื่อมสภาพของดินการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น จนในที่สุดนำไปสู่การสูญเสียทั้งวิถีและที่ดิน เพราะถิ่นฐานบนภูเขาชันเมื่อทำกินต่อเนื่องพื้นดินย่อมถูกกัดเซาะจนไม่มีทางฟื้นคุณภาพคืน เหมือนที่ราบที่มีน้ำพาตะกอนมาทับถม

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคนใหม่เป็นหญิงสาวที่ดูเอาการเอางาน นำข้อมูลที่เราทำไว้มาศึกษาลงตรวจสอบพื้นที่และศึกษาความคิดกับชุมชนและปราชญ์เฒ่าในหมู่บ้าน ปรับแก้ข้อมูลแผนที่ของเราแต่เดิมให้ดีขึ้นจนแน่ใจว่าข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำ และพร้อมจะนำเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ระดับนโยบายยอมรับได้

แผนที่ไร่หมุนเวียนถูกนำมาอภิปรายกันในเวทีการประชุมต่างๆ โดยเฉพาะการประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ประกอบด้วยนักวิชาการท้องถิ่นและผู้นำชุมชน จนมีมติยอมรับและให้นำไปประชาคมกับชุมชน รวมถึงเห็นร่วมกันว่ากระบวนการต่างๆ แบบนี้เป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งยาวนาน จนกระทั่งอาจนำไปสู่การร่วมรักษาผืนป่าร่วมกัน การหารือที่จะขอเพิ่มเติมพื้นที่ผนวกเข้ามาอย่างไม่สร้างความขัดแย้งกันอย่างในอดีต

แม้เวทีที่จะแกจะยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องสำคัญ แต่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของการทำงานกับชุมชนในป่าลึก การปรับกระบวนทัศน์และกระบวนท่าของฝ่ายรัฐเป็นจุดเริ่มทำให้คนในป่าเริ่มมีความหวังที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ผู้อาวุโสหลายคนให้ความเห็นสอดคล้องเรื่องการที่จะต้องรักษาป่าและรักษาประเพณีเอาไว้ ไม่ว่าจะมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่คำพูดของหญิงสาวหัวหน้าเขตก็นุ่มนวลและหนักแน่นเช่นกันว่าการดูแลป่าก็เพื่อร่วมกันรักษาไว้ให้ชุมชนด้วยเช่นกัน

สองวันต่อมาเราพารถที่บอบช้ำ แต่หัวใจทุกคนชุ่มชื่นที่เห็นความสมบูรณ์ของป่า กระบวนการทำงานที่สวยงามร่วมกัน การแก้ไขปัญหาอย่างสันติและเปิดใจ พวกเราที่ทำหน้าที่คนกลางอย่างอดทนมายาวนานรู้สึกจริงๆ ว่าเวลาที่ผ่านมาของเราไม่เสียเปล่า แม้ความสำเร็จจะยังไม่มาถึงแต่การได้มาสู่วิถีที่ถูกต้องก็มีค่าปานกันแล้ว

จากความงามในผืนป่า เราเข้ามาพบความจริงที่โหดร้ายในเมือง เสธ.แดง เป็นเพียงชีวิตหนึ่งที่ล่วงหน้าก่อนอีกหลายชีวิตจะสูญตามไป สิ่งที่น่ากลัวกว่ากระสุนและเปลวไฟคือความแค้นลึกที่เข้าทางผู้วางแผนสร้างความรุนแรงและสงคราม การทำให้คนแตกแยกเกลียดชังกัน แต่ละฝ่ายมีเป้าหมายเป็นผลประโยชน์ตามกมลสันดานที่ต่างกันบางคนโลภ บางคนหลง บางคนต้องการแก้แค้นฝังใจในอดีตด้วยวิธีการที่เลวร้ายกว่าที่ตัวเองเคยถูกกระทำเสียอีก ยังมินับคนที่พลอยฟ้าพลอยฝนสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินในสงครามที่ตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้อง ที่อาจทับความซับซ้อนของความขัดแย้งให้จัดการได้ยากขึ้น

เราอาจพบวิธีการที่จะแก้ปัญหาคนในป่าได้ แต่ปัญหาคนในเมืองนี่ล่ะที่วิธีการใดจะเป็นคำตอบ

หรืออาจจะไม่มี เนื่องจากนี่เป็นชะตากรรมของชาติที่เราล้วนมีส่วนก่อกรรมร่วมกันมา

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)