สืบ นาคะเสถียร ได้รับหมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าฯ ตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน โดยเริ่มต้นเตรียมงานและสำรวจภาคสนามตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2528 แต่ปฏิบัติการอย่างจริงจังได้เริ่มต้นภายหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทำการปิดอุโมงค์เพื่อเก็บกักน้ำเมื่อ 3 เมษายน 2529 ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นจากระดับ 14 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเพิ่มขึ้นมาแต่ยังไม่ค่อยมีปัญหากับสัตว์ป่ามากนักจนย่างเข้าฤดูฝน ระดับน้ำไต่ระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทีมงานช่วยเหลือสัตว์ป่าฯของสืบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการสัตวบาลและนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานหนักขึ้นโดยต้องคอยลาดตระเวนป้องปราม ชาวบ้านที่ถือโอกาสเข้าไปล่าสัตว์และตัดต้นไม้ทางน้ำด้วย
ครั้งหนึ่งสืบได้สำรวจพบรังนกที่หายาก คือ นกกระสาคอขาวปากแดง (Storm’s Stork) ที่ไม่เคยมีข้อมูลว่าพบในประเทศไทยมาก่อน นกทั้งสองทำรังบนต้นยางใหญ่ ที่ถูกน้ำท่วมอยู่กลางน้ำพร้อมกับลูกเล็กๆ 2 ตัว จึงได้ถ่ายรูปไว้และคอยหมั่นไปดูแลหวังจะให้ลูกนกเติบโต บินออกจากรังได้ตามธรรมชาติแต่ปรากฏได้มีคนแอบมาตอกทอยปืนขึ้นไปบนยอดยาง เอาลูกนกไปจนได้ จนกลุ่มเจ้าหน้าที่ต้องใช้พลังบีบและกดดันอย่างหนัก จึงได้ลูกนกกลับมาและนำไปเลี้ยงดูเบื้องต้น ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชร สุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมปล่อยสู่ธรรมชาติต่อไป และต่อมาทางFAO ได้นำภาพนี้ขึ้นเป็นภาพปกวารสาร TIGER PAPER ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า เมื่อปีพ.ศ.2531 (Vol XV : No.3 1988) อันเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
.
.
ผู้เขียนได้เดินทางไปเยี่ยมสืบและทีมงานช่วยเหลือสัตว์ป่าเมื่อเดือน ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตกหนักและระดับน้ำในเขื่อนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้เห็นและรู้เรื่องเกี่ยวกับการทำงานว่าเป็นงานยากและลำบากโดยทีมงานอยู่อาศัยประจำที่เรือนแพ 2 หลังตั้งอยู่กลางน้ำห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร แพหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสืบและเจ้าหน้าที่ อีกแพหนึ่งเป็นที่เก็บสัมภาระ สัตว์ป่าที่ต้องดูแลรักษาและผู้ดูแล ตามปกติการปฏิบัติงานจะหยุดเฉพาะวันอาทิตย์วันเดียวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทำธุรกิจอย่างอื่น แต่หากมีภารกิจด่วนก็อาจไม่ได้พักเลย ซึ่งก็มีบ่อยในช่วงที่น้ำขึ้นเร็วและสัตว์ต้องได้รับการช่วยเหลือด่วน ทีมงานต้องรีบออกทำงานทันทีหลังอาหารเช้า ส่วนอาหารกลางวันนั้นถ้าพื้นที่ทำงานอยู่ใกล้ก็จะมีเรือนำไปส่ง แต่ถ้าอยู่ไกลก็จะเป็นข้าวห่อแทน ผู้เขียนได้เห็นความพยายามช่วยเหลือค่างที่ติดอยู่บนต้นไม้กลางน้ำ ที่จะต้องมีคนปีนขึ้นต้นไม้แล้วต้อนให้ค่างหนีจนตกน้ำ แล้วจะมีคนที่กระโดดลงจากเรือไปช่วยเหลือค่างในน้ำกลับมาขึ้นเรืออีกทีหนึ่ง สัตว์ที่จับได้หากอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์จะนำไปปล่อยในที่เหมาะสมเลย หรือบางส่วนจะนำไปดูแลรักษาไว้เพื่อดำเนินการต่อไป ในระหว่างเวลาอาหารเย็น จะเป็นเวลาที่ทุกคนได้ผ่อนคลายและคุยกันสนุกสนานถึงกิจกรรมในช่วงวันที่ผ่านมา แต่อีกสักพักก็จะเริ่มเก็บโต๊ะและนำแผนที่มาวางเพื่อวางแผนและกำหนดจุดที่ต้องไปทำงานต่อไปในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะได้พักผ่อนในแพที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
ในวันหยุดนั้นสืบอาจจะไม่ได้หยุดพักผ่อนเหมือนคนอื่น เพราะอาจจะต้องนำสัตว์ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่นลูกนก หรือสัตว์วัยอ่อนไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชร หรือบางครั้งอาจต้องเดินทางไปกับคนขับรถบรรทุกเพียง 2 คนเพื่อนำสัตว์ป่าบางชนิดที่หายากเช่น เก้งหม้อ กระจงควาย ที่สมควรจะเลี้ยงไว้เพื่อขยายพันธุ์ ไปส่งให้สถานีเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าโคกไม้เรือ จังหวัดนราธิวาสด้วยตัวเอง
สืบได้สร้างความประทับใจให้กับทีมงานหลายครั้งหลายหน ด้วยการแสดงออกถึงการเป็นผู้นำที่ ทำงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเสียสละ ผู้ร่วมงานคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า วันหนึ่งสืบเห็นว่าทุกคนทำงานหนักกันมากเพราะเป็นช่วงฝนตกหนักน้ำขึ้นเร็วเขาจึงพาลูกน้องไปกินอาหารค่ำข้างนอก เมื่อกลับมาถึงท่าน้ำที่จะข้ามไปแพซึ่งตามปกติจะใช้สัญญาณเปิดและกระพริบไฟรถยนต์ส่องไปยังแพ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำเรือมารับแต่วันนี้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบฟ้าร้องตลอดเวลา จึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากคนในแพ รออยู่ได้สักพักหนึ่งสืบจึงสวมวิญญาณอดีตนักว่ายน้ำระดับเสื้อสามารถของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัดสินใจลงว่ายน้ำในเวลากลางคืนท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ปกติ จากท่าน้ำไปยังแพกลางน้ำเพื่อให้คนเรือมารับคนอื่นๆ กลับไปพักผ่อนที่แพโดยไม่ต้องรอนาน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผืนป่าดั้งเดิมที่ถูกน้ำท่วม จากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานจำนวนอย่างน้อย 116 ชนิด 1,364 ตัว ให้สามารถกลับไปมีชีวิตต่อไปในธรรมชาติ เป็นผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับและกล่าวขานถึงตัวอย่างของความสำเร็จทางด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทยอยู่เสมอ
.
.
เสร็จจากงานภาคสนามในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่คลองแสง สืบใช้บางช่วงเวลาที่สามารถเจียดได้จากการทำรายงานและคู่มือการช่วยเหลือสัตว์ป่า รีบกลับไปดำเนินการจัดทำข้อมูลและเอกสารการเสนอพื้นที่ทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกธรรมชาติต่อ เนื่องจากมีการผนวกพื้นที่เข้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเพิ่มขึ้น งานเขียนรายงานฉบับสุดท้ายที่จะนำไปพิมพ์เสนอคณะกรรมการมรดกโลก จึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย จนเมื่อการจัดทำรายการเกี่ยวกับการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน (รัชประภา) เสร็จเรียบร้อย สืบจึงกลับมาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ โดยออกไปเก็บข้อมูลในเชิงลึกและข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมสำหรับรายงานฉบับสุดท้าย และมีการประสานการดำเนินงานโดยตรงกับคณะทำงานที่มีนายไพโรจน์ สุวรรณกร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้และเป็นคณะทำงานด้วย
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2530 อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก ซึ่งเป็นผลให้ประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2530 ทำให้สืบจึงต้องรีบเร่งการจัดทำรายงานฉบับสุดท้ายเพื่อให้ทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติโดยเร็วที่สุด
การลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ทำให้สืบได้รับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับทุ่งใหญ่มากขึ้น และการทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานในการเสนอพื้นที่มรดกโลก ทำให้สืบรู้และเข้าใจสถานการณ์ดีว่าหากรัฐบาลไทยยังไม่ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน พื้นที่ทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งก็จะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สืบจำเป็นต้องออกไปอยู่แถวหน้าในการรณรงค์คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ร่วมกับมวลชนในท้องที่ นิสิตนักศึกษา นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นผลให้คณะรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจได้มีมติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2531 ให้ระงับโครงการเขื่อนน้ำโจน และต่อมาได้ส่งผลให้คณะกรรมการมรดกโลก ได้ประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในที่สุด
.
อ่าน รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 4 ทางเลือกสุดท้ายคือห้วยขาแข้ง