[ก้าวสู่ปีที่ 31] เครือข่ายป่าชุมชนที่แนวเขตห้วยขาแข้ง

[ก้าวสู่ปีที่ 31] เครือข่ายป่าชุมชนที่แนวเขตห้วยขาแข้ง

เมื่อค่ำคืนของวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ บนเส้นทางลัดจากอำเภอบ้านไร่ ถึงลานสัก รถขับเคลื่อนสี่ล้อยกสูงของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ผมนั่งอยู่บนกระบะหลังหักหลบอะไรบางอย่างออกทางด้านขวา รถมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามหลบรถเราลงข้างทางแต่ไม่เสียหลักสามารถทรงตัวต่อไปได้ ภาณุเดช เกิดมะลิ ผู้จัดการภาคสนามของเราที่เป็นคนขับรถเบรกชะลอรถไว้ แล้วในห้วงขณะ เขาสามารถดึงรถที่กำลังเสียหลักกลับมาสู่เส้นทาง ผมรู้สึกดีที่คนขับรถเป็นคนที่ผมไว้ใจที่สุด และดีกว่านั้นคือผมไม่หลุดกระเด็นตกลงไปข้างทางเนื่องจากแรงเหวี่ยงของรถ

ด้านหลังของรถเรา ผมเห็นรถไถพ่วงสาลี่ขนาดยาวพิเศษบรรทุกไม้เต็มรถเลี้ยวเข้าไปในซอยข้างที่มืดมิด ในตอนที่ผมเห็นนั้นท้ายสาลี่ยังไม่พ้นถนนที่เราเพิ่งหักหลบมา นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเกือบไม่ผ่านเหตุเฉียดตายมาอีกครั้ง และแน่นอนว่ารถพ่วงสาลี่คันนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่บอกเราว่าการใช้ทรัพยากรไม้ของชุมชนยังเป็นปัญหาความขัดแย้งสำคัญในเรื่องของทัศนคติในการอนุรักษ์ และกระบวนการจัดการป่าชุมชน

สามวันที่ผ่านมาเรานัดหมายชุมชนที่อยู่ประชิดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจัดเวที “คืนข้อมูลให้ชุมชน” อันหมายถึงข้อมูลที่เราได้สำรวจพื้นที่ในการขอจัดตั้งป่าชุมชนร่วมกันกับคณะกรรมการป่าชุมชนต่อกรมป่าไม้

จากสี่แยกเข้าตลาดบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีเส้นทางสองเลนลาดยางเรียบร้อยมาหลายปีตัดผ่านหย่อมเขาลูกใหญ่ลูกเล็ก คดไปโค้งมาแต่มุ่งขึ้นเหนือไปทางอำเภอลานสัก เป็นระยะทางเกือบ 70 กิโลเมตร พวกเราวิ่งไปวิ่งมาอยู่บ่อยๆ จนเป็นความคุ้นเคย ทางฝั่งซ้ายมือหรือทางตะวันตกมีเทือกเขาสูงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตั้งยอดเสียดเมฆอยู่ตลอดทาง แต่ภูเขาสลับเนินข้างถนนมีชุมชนเรียงรายมีที่ทำกินเป็นไร่มัน ไร่ข้าวโพด ไร่สับปะรด อยู่ทั่วไป เดี๋ยวนี้ทำท่าจะมีสวนยางพาราแทรกอยู่หนาตา หย่อมเขากลางไร่บางแห่งก็เป็นเนินเขาเล็กๆ แต่บางที่พอเข้าใกล้ๆ ก็ใหญ่โตเป็นเทือกเขาสุดตา ผมเคยชวนสมบัติ ชูมา หัวหน้าภาคสนามประจำพื้นที่อุทัยธานีเรียกชื่อถนนสายนี้เป็น “ถนนสายป่าชุมชน” กันดีไหม เพราะมีเขาหลายลูกที่ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งเป็นป่าชุมชนรักษาหย่อมป่าเอาไว้ และร่วมกันดูแล มีกิจกรรมกันไฟ ปลูกป่าบวชป่า กันตลอดแนว แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ภูเขาอีกหลายที่ที่ยังไม่มีใครไปดูแลเพราะอยู่ห่างไกลเกินกำลังที่ชุมชนจะรับผิดชอบได้ ดังนั้น การจะเรียกถนนสายนี้เป็นสายป่าชุมชนที่ว่าก็ยังทำไม่ได้เต็มที่นัก แต่ว่าสักวันหนึ่งอาจจะเป็นจริงขึ้นมาก็ได้

ถนนสายป่าชุมชนที่ว่าเป็นพื้นที่ทำงานของโครงการ “ป่าชุมชน 30 ป่ารักษาทุกโรค” ที่พวกเรามูลนิธิสืบร่วมกับแกนนำของคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกในขณะนั้นซึ่งเป็นพระสงฆ์นักเทศน์ชื่อดังในพื้นที่ นั่นคือท่านอาจารย์ประนอม ปัญญาวโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระธาตุเมืองเทพ และพระอาจารย์อมรมิตร คัมภีรธัมมโม พระนักวิชาการจากวัดนี้เช่นกัน ร่วมกันเสนอของบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อไปชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมกันจัดตั้งป่าชุมชน และรวมตัวเป็นเครือข่ายคนใช้วิทยุสื่อสารเครื่องแดงเป็นรั้วมนุษย์ขอบป่าห้วยขาแข้งเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารการเฝ้าระวังทรัพยากรร่วมกัน

อาจารย์ประนอมเคยกล่าวถึงแนวคิดนี้ไว้ว่า ถ้าดึงชุมชนมาทำงานรักษาป่าให้เขามีความภาคภูมิใจในทรัพยากรใกล้บ้าน ช่วยกันดูแลและร่วมรับประโยชน์ เราจะได้ผลประโยชน์ที่จะตามมาเพิ่มจากป่าอีกมาก ที่สำคัญคือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และช่วยรักษาโรคทางสังคมที่เกาะกินชาวบ้านอยู่ได้ทุกโรค 

“โรค” ที่ว่ามาก็มักจะแสดงอาการ สามอย่างให้เห็นคือ “โง่” “จน” แล้วก็ “เจ็บ” แต่ทั้งสามอาการนี้ไม่ได้ว่าชาวบ้านเป็นคนโง่จริงๆ แต่เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็มองว่าเขาโง่กว่าแล้วก็เข้ามาช่วยแบบจริงบ้าง หลอกเอาบ้าง ส่วนใหญ่พวกนี้มาในรูปโครงการรัฐ การเมืองท้องถิ่น บริษัทขายเครื่องมือเกษตร คนขายเครื่องไฟฟ้า อ้อ! รวมถึงจากพวกที่เรียกตัวเองว่านักพัฒนาเอกชนและประชาสังคมด้วย แล้วความซื่อ ความไม่คิดว่าใครๆ ก็จ้องมาหาประโยชน์จากเขา ก็พาให้ชาวบ้านทำกิจกรรมโน่นนี่นั่น จนที่สุดแล้วเป็นพื้นที่หาประโยชน์โดยมักไม่ได้อะไรกับตัวชาวบ้าน มิหนำซ้ำสุดท้ายก็จนขึ้น และเจ็บใจแล้วเจ็บใจอีก เพราะเดี๋ยวๆ ก็มาอีกแล้ว ก็ใจอ่อนเชื่อเขาอีกทุกที

อาการของโรคที่ซ่อนอยู่ในชุมชนยังมีอีกมากทั้ง การหลงเป็นเครื่องมือทางการเมืองทุกระดับ การขาดภูมิคุ้มกันยาเสพติด ค่านิยมจากทุนนิยม และการขาดการรวมกันเพื่อสร้างตัวเป็นองค์กรเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทั้งที่จริงแล้วในทุกวันนี้ชุมชนยังมีศักยภาพในการร่วมกันทำงาน คุ้นเคยและเต็มใจในการช่วยเหลืองานส่วนรวม การรู้จักมักจี่คุยกันได้ทั้งชุมชน รวมถึงรู้จักกันเลยไปแทบจะทั้งตำบลอำเภอเสียด้วยซ้ำ และที่สำคัญคือวันนี้ทุกคนก็รู้แล้วว่าทรัพยากรอย่างป่าใกล้บ้านที่เหลือน้อยลงนั้นสำคัญต่อปัจจัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ซึ่งพอเราได้คุยกันก็วิเคราะห์ตรงกันว่าสิ่งที่ชุมชนชนบทขาดแคลนที่จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ปัจจัยภายนอกอย่างทุนหรือความรู้ แต่หากคือ “ความภูมิใจและการถูกยอมรับ” จากสังคมในส่วนเมือง หรือจากทัศนคติของภาครัฐ ต่างหาก

และพวกเราก็เห็นตรงกันว่าการหนุนเสริมให้ชาวบ้านจัดตั้งป่าชุมชนของเขาเอง เป็นเรื่องที่ทำได้ในชุมชนบนถนนสายที่ว่ามาแน่ๆ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเขาและเราก็มี “ต้นทุน” อยู่แล้วมากมาย

ในพื้นที่อำเภอลานสัก มีหลายคนรับรู้ถึงความเข้มแข็งของการรักษาป่าของหลวงตาที่วัดหินเทินเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่เวลามีไฟป่ามาทีท่านก็ออกกระจายเสียงเรียกชาวบ้านขึ้นรถกระบะวัดไปช่วยกันดับไฟ ฝ่ายชาวบ้านเห็นพระลุยฝ่าไฟจนจีวรจะไหม้ก็ทนไม่ไหวต้องวิ่งตามไปจนเป็นกิจวัตร ทำไปทำไปวันนี้ป่าที่เขาหินเหล็กไฟฝั่งวัดท่านเขียวกว่ารอบๆ ชัดเจน ชาวบ้านเก็บเห็ดเก็บหน่อไม้กันไม่หวาดไม่ไหว และเห็นดีเห็นงามกับการรักษาป่าและกันไฟไว้ให้ได้ ที่ใกล้ๆ เขาลูกที่ว่าก็มีเขาวงที่เป็นเขาลูกใหญ่ แกนนำช่วยกันรักษาป่าไว้ยาวนานได้นับการยอมรับทั่วไป เวลามีคนมารุกป่าเอาทีทีหนึ่งก็รวมกันไปช่วยกันต่อต้าน และวันนี้ก็เห็นๆ กันว่าเป็นแหล่งอาหารและต้นน้ำที่สำคัญของชาวไร่โดยรอบ

ชุมชนที่เราทำงานด้วยในด้านเหนือเป็นพื้นที่อำเภอลานสัก ห้วยคต มีเวทีประชุมพูดคุยกันอยู่แล้วในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ส่วนพื้นที่ที่เราเพิ่งขยายโครงการไปสู่ด้านใต้สุดของอำเภอบ้านไร่นั้นเราเพิ่งจะทำงานได้ไม่ถึงสองปี พื้นที่ด้านใต้นี้ที่เป็นเป้าหมายในการคืนข้อมูลดังกล่าว ส่วนพื้นที่ด้านเหนือจริงแล้วประเด็นที่ผมตั้งใจที่จะคุยกันน่าจะเป็นการทบทวนการทำงาน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมูลนิธิกับชาวบ้านเสียมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากเรานั่นเองที่บกพร่องและห่างจากเขาออกมาทำเรื่องอื่นๆ จนมีเสียงสะท้อนหนาหูว่าเราห่างเกินไป

ในพื้นที่อุทัยธานี งานจัดตั้งป่าชุมชนเป็นงานหลักที่ทีมงานภาคสนามดำเนินการอยู่ จริงแล้วเป็นภารกิจที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่มุ่งไปสู่การทำงานกับชุมชนที่อยู่ในผืนป่า แต่สำหรับอุทัยธานีที่มีป่าห้วยขาแข้งเป็นกำแพงของจังหวัดตลอดทิศตะวันตกนั้น นับว่าไม่มีชุมชนที่ยังอยู่ด้านในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอยู่เลย ภารกิจที่พวกเราทำงานกับชุมชนจึงวางไว้ที่การสร้างเครือข่ายชาวบ้านที่เฝ้าระวังทรัพยากร ดูแลรักษาป่ากลางไร่ที่เป็นแหล่งหาอยู่หากินของเขา แน่นอนว่าการใช้พื้นที่ป่าในแนวเขตยังเป็นข้อขัดแย้งสำคัญระหว่างชาวบ้านกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแนวป่าเล็กป่าน้อยก็มีความจำเป็นในการเป็นแหล่งหาอยู่หากินที่ไม่มีความขัดแย้งกับรัฐและเป็นพื้นฐานให้ชาวบ้านเข้าใจในงานร่วมอนุรักษ์ป่าอีกด้วย

เราแบ่งพื้นที่จัดเวที ตามกลุ่มป่าออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มป่าเขาเขียว กลุ่มป่าเขาวงศ์ กลุ่มป่าทองหลางกลุ่มป่าคอกควาย และกลุ่มป่าบ้านไร่ 

กลุ่มป่าเขาเขียว ประกอบไปด้วย ป่าชุมชนบ้านเขาเขียว ป่าชุมชนไผ่งาม และป่าบึงเจริญ ซึ่งเป็นชุมชนประชิดแนวเขตห้วยขาแข้งตอนเหนือสุด ชุมชนเหล่านี้ในอดีตมีความขัดแย้งกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างมาก มีปัญหาการล่าสัตว์ ตัดไม้ และการเข้าไปเก็บหาของป่า กระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดมา แต่ภายหลังที่เราเข้าไปทำงานจัดตั้งป่าชุมชนและเป็นคนกลางในการสื่อสารระหว่างชาวบ้านกับเขตรักษาพันธุ์ตลอดจนหน่วยป้องกันรักษาป่าโดยรอบ ก็รู้สึกได้ว่าปัญหาต่างๆ จะบรรเทาเบาบางลง แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างข่าวการล่าสัตว์ในบริเวณบ้านไผ่งามในปีที่ผ่านมา ก็เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องปรับความเข้าใจกัน โดยที่จากข้อมูลต่างๆ ก็ค่อนข้างชัดว่าเกิดจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วๆ ไป แต่เมื่อเทียบกับปัญหาที่บ้านบึงเจริญแล้ว ปัญหาที่ไผ่งามก็ดูเป็นเรื่องทั่วไป เพราะที่บึงเจริญเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความขัดแย้งในเรื่องการใช้พื้นที่น้ำท่วมน้ำลดเหนืออ่างเก็บน้ำทับเสลาในการเลี้ยงวัว ปลูกผัก และการใช้พื้นที่ป่าชุมชนด้านเหนือขึ้นไปในการทำคอกวัว และการเหยียบย่ำทรัพยากรในป่า ยังไม่นับปัญหาทับซ้อนของการใช้พื้นที่ของหน่วยราชการอย่างศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ และยังไม่ได้นับถึงการเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำโครงการต่างๆ ของนักการเมือง ที่ทั้งหมดแล้วเป็นโจทย์ที่ให้คนทำงานชุมชนอย่างเราต้องคิดต่อไป

กลุ่มป่าเขาวงศ์ ประกอบไปด้วย ชุมชน บ้านเขาหินเทิน บ้านท่ามะนาว บ้านคีรีวงศ์ บ้านโป่งมะค่า บ้านโป่งสามสิบ บ้านห้วยรัง บ้านอ่างห้วยดง บ้านเขาไม้นวลที่ ต.ระบำ บ้านทรัพย์สมบูรณ์ บ้านเนินม่วงพัฒนา บ้านซับป่าพลูใหม่ บ้านเขาไม้นวล ต.ป่าอ้อ และบ้านคลองชะนีบน กลุ่มป่านี้ในความรู้สึกของผมค่อนข้างจะเป็นศูนย์กลางการทำงานของเราเลยทีเดียว เนื่องจากเขาวงศ์ เป็นภูเขาลูกใหญ่ที่ชุมชนร่วมกันรักษาป่ามานมนานตั้งแต่ก่อนที่เราจะเข้าไปทำงาน สภาพป่าได้รับการดูแลอย่างดี มีแกนนำชุมชนหลายคนที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ตำแหน่งที่ตั้งยังห่างออกมาจากแนวเขตรั้วลวดหนามของห้วยขาแข้งพอสมควร ดังนั้นจึงแทบไม่ปรากฏปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่อย่างไรก็ดีในช่วงสองปีที่ผ่านมามีสิ่งที่น่ากังวลก็คือ การบุกรุกป่ากลางเขาวงศ์เพื่อทำสวนยางพาราของผู้มีอิทธิพล แต่ในที่สุดแล้วชุมชนก็ร่วมกันป้องกันและต่อต้านให้ออกไปสำเร็จ

กลุ่มป่าทองหลาง ประกอบด้วย บ้านตลิ่งสูง บ้านเมืองแมน บ้านละว้า บ้านอีซ่าพัฒนา บ้านมอสามโค้ง บ้านไซเบอร์ บ้านกุดจะเลิศ บ้านห้วยร่วม บ้านภูเหม็นโท บ้านคลองเคียน และบ้านคลองแห้ง กลุ่มป่านี้เป็นชุมชนที่หลากหลาย มีทั้งชุมชนกะเหรี่ยง คนไทย และชาวอีสานอพยพ รวมถึง คนลาวที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่นานแล้ว กลุ่มป่านี้เป็นกลุ่มป่าที่มีพื้นที่ประชิดแนวรั้วห้วยขาแข้งและเป็นแนวต่อเนื่องออกมาทางตะวันออกรอบอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว แม้ว่าโดยทั่วไปการรักษาป่าชุมชนจะไม่ค่อยพบปัญหาการบุกรุก แต่พื้นที่บริเวณนี้เป็นเป้าหมายการยึดครองของกลุ่มนายทุน ที่เข้ามาแสดงการข่มขู่เพื่อยึดครองพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์พี่น้องกะเหรี่ยง แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้

กลุ่มป่าคอกควาย ประกอบด้วย บ้านน้ำพุ บ้านดง บ้านปางสวรรค์ บ้านทองหลาง บ้านเจดีย์ บ้านน้ำซับ บ้านห้วยลึก บ้านคุ้มเกล้า บ้านคลองหวาย บ้านหนองใหญ่ กลุ่มป่านี้มีปัญหาการลักลอบตัดไม้ และถางป่าขึ้นไปตามเชิงเขา แกนนำชุมชนยังขาดการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดพลังการอนุรักษ์ ดังนั้นพื้นที่นี้นับเป็นโจทย์ใหญ่ในการทำงานของเราเช่นกัน โดยเฉพาะการประสานความขัดแย้งและสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นจากแกนนำชุมชน

กลุ่มป่าบ้านไร่ ประกอบด้วย บ้านสะนำ บ้านห้วยป่าปก บ้านพุบอน บ้านหินตุ้ม บ้านหินตั้ง บ้านศาลาคลอง บ้านหนองใหญ่ บ้านน้อยพัฒนา บ้านใหม่ร่มเย็น บ้านบุ่ง และบ้านหนองปรือ  เกือบทั้งหมดยกเว้นบ้านใหม่ร่มเย็น เป็นพื้นที่ที่เราขยายพื้นที่การทำงานออกมาในช่วงสองปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าใกล้เมืองคืออยู่โดยรอบตลาดอำเภอบ้านไร่ ผมแทบไม่รู้จักแกนนำและสภาพป่าเลย อย่างไรก็ดีเราได้ข้อมูลการสำรวจพื้นที่ขอบเขตป่าร่วมกับชาวบ้านและจัดทำเอกสารเสนอเพื่อจัดตั้งป่าชุมชนได้แล้วเกือบทุกป่า จึงเป็นพื้นที่ที่เราต้องเร่งกระชับกระบวนการทำงาน และลงทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับชุมชนอย่างเข้มข้นต่อไป

ในพื้นที่อุทัยธานี ยังมีพื้นที่ทำงานที่สำคัญอีกพื้นที่คือบริเวณตำบลแก่นมะกรูด ที่เป็นหมู่บ้านเก่าแก่อยู่กลางป่าใหญ่อยู่ประชิดแนวเขตห้วยขาแข้ง ประกอบไปด้วยหมู่บ้าน อีทราย บ้านอีมาด บ้านใหม่คลองอังวะ และบ้านใต้ เป็นชุมชนกะเหรี่ยงเก่าแก่ที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากทำข้าวไร่หมุนเวียนเป็นไร่พืชเชิงเดี่ยวเกือบหมดแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนเหมือนกับที่เราได้ดำเนินการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เช่นกัน แต่ปัจจุบันเราก็ได้แต่เพียงเริ่มเข้าไปทำความรู้จักกับแกนนำชุมชน และไม่สามารถหาผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เหมาะสมได้

การจัดทำเวทีคืนข้อมูลชุมชนที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการทบทวนกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันมา และรายงานความก้าวหน้าที่มูลนิธิสืบฯ เป็นผู้ประสานงานเสนอจัดตั้งป่าชุมชน ตลอดจนรายงานความคืบหน้าของกิจกรรมในโครงการเครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตกที่ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้แกนนำชุมชนในพื้นที่อุทัยธานี เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างแผนงานการจัดการทรัพยากรร่วมกับเครือข่ายจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

ปัญหาใหญ่ของการทำงานในพื้นที่อุทัยธานีในวันนี้เรามีปัญหา “ภายใน” ครับ เป็นธรรมดาที่การทำงานก็อาจจะมีปัญหาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของคนทำงาน โดยมีปัจจัยจากปัญหาส่วนตัวที่ส่งผลกระทบกับการทำงาน ทำให้ช่วงนี้ดูเหมือนงานชุมชนที่อุทัยของเราดูอ่อนล้า และมีปัญหาคนทำงานกับชุมชนอย่างมาก ทั้งๆ ที่เมื่อสามสี่ปีที่แล้วกิจกรรมป่าชุมชนของพื้นที่นี้ภายใต้ชื่อโครงการ “ป่าชุมชน 30 ป่ารักษาทุกโรค” ของเรามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นๆ นำรูปแบบการทำงานไปใช้จนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นครสวรรค์ และกำแพงเพชร รวมถึงการขยายกิจกรรมไปสู่ป่ารอบอุทยานแห่งชาติพุเตยทางฝั่งด่านช้าง สุพรรณบุรี

งานเวทีที่ผ่านมาทำให้ผมได้ทราบสาเหตุ และองค์ประกอบของปัญหาในทีมงาน เพราะในแต่ละคืนที่เสร็จเวทีชุมชนแล้วผมและทีมงานได้ประชุมสรุปงาน และทบวนวิเคราะห์สภาพปัญหากันอย่างเข้มข้น เกษียร จันทร กับ เสน่ห์ สีนอเพีย เจ้าหน้าที่ภาคสนามของเราค่อยๆทำความเข้าใจสภาพปัญหา และสืบหาสาเหตุร่วมกับ สุนทร จำปีเรืองเจ้าหน้าที่คนมาใหม่ของเรา ร่วมกับอาสาสมัครของมูลนิธิฯ อีกหลายคนจนแน่ใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดจากปัญหาส่วนตัวของเรา แน่นอนว่าเมื่อทราบเหตุแห่งปัญหาร่วมกันย่อมปรากฏหนทางที่จะไขปัญหา

หลังจากเวทีวันนั้น ถึงวันนี้ภาณุเดช เกิดมะลิ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติงานภาคสนามคนที่ขับรถพาพวกเราหลบอุบัติเหตุที่น่าจะอันตรายถึงชีวิตเมื่อค่ำคืนสุดท้ายของการไปทำเวทีชุมชนที่เล่ามาจนปลอดภัย ค่อยๆ ปรับจูนทีมงานเข้าด้วยกันใหม่ ระดมความคิดแก้ไขปัญหาภายในอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ผมเชื่อว่าปัญหาภายในของเราก็ไม่ต่างจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดฝัน เมื่อเห็นชัดแล้วเลี้ยวหลบกลับสู่เส้นทางได้ การทำงานก็ย่อมต้องเดินต่อไป ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกือบเกิดขึ้นในครั้งนี้ ผมหวังว่าเราจะนำมาเป็นประสบการณ์ในการทำงานไม่ให้เกิดความผิดพลาดประมาทไว้ใจจนเกิดความเสียหายในเวลาข้างหน้า

ภาณุเดช ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาของเขาเหมือนการขับรถพาพวกเราผ่านช่วงเวลาเฉียดตายมาด้วยฝีมือ ทัศนะ และสติ อย่างที่พวกเราเชื่อใจตลอดมา

รถสาลี่บรรทุกไม้ หลังจากเลี้ยวหักขวางถนนเลี้ยวเข้าซอยมืดไป เราก็เห็นแค่เพียงท้ายรถซึ่งลับตาเราไป เราก็ไม่รู้ว่ารถบรรทุกไม้คันนั้นมาจากไหนแน่ และเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปไหนต่อ เราได้แต่หวังว่ารถคันนั้นจะขับต่อด้วยความระมัดระวัวมากขึ้นเพื่อให้เขาและคนอื่นๆ ที่จะพบเจอบนถนนชีวิต “ปลอดภัย”

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)