รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 1 นักกีฬา นักอนุรักษ์และนักวิชาการ

รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 1 นักกีฬา นักอนุรักษ์และนักวิชาการ

ผู้เขียนคงจะเป็นอีกคนหนึ่งที่สืบได้ระลึกถึงในระหว่างค่ำคืน 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2533 ก่อนที่เขาจะได้สละชีพตนเองในบ้านพักหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การเสียชีวิตของสืบได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญในวงการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากมายในเวลาต่อมา และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เขียนขอมีส่วนร่วมในการรำลึกถึงบุคคลสำคัญผู้นี้อีกคนหนึ่ง

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ในกระดาษแผ่นน้อยหลายๆ แผ่น ที่สืบได้เขียนบันทึกสั่งลาและฝากฝังงานต่างๆ ในช่วงตั้งแต่หัวค่ำจนย่างเข้าวันใหม่นั้น มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่ขอให้คนสนิทช่วยเป็นธุระทำบางสิ่งบางอย่างให้ รวมทั้งการขอให้นำสไลด์มาคืนให้ผู้เขียนด้วย กระดาษแผ่นนี้ต่างจากแผ่นอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้ลงบันทึกกำกับวันที่ไว้ใต้ลายเซ็นเหมือนกับแผ่นอื่นๆ ที่ลงวันที่กำกับไว้ทั้ง 31 สิงหาคม และ 1 กันยายน  จึงไม่ทราบว่าจะเป็นแผ่นสุดท้ายหรือจะมีนัยประการใด
.

.
นักกีฬา นักอนุรักษ์และนักวิชาการ

ผู้เขียนได้พบและรู้จักสืบยศ (ชื่อขณะนั้น) ครั้งแรกในปี พ..2514 เมื่อได้ไปเป็นผู้ตัดสินโปโลน้ำชิงชนะเลิศภายในประจำปีของชมรมกีฬาทางน้ำที่สระขจี (สระว่ายน้ำเก่า) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้จัดให้มีการแข่งขันนัดสุดท้ายในวันสถาปนามหาวิทยาลัย (2 กุมภาพันธ์)

ในการแข่งขันครั้งนั้น ได้เห็นนักโปโลน้ำคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน มีความสามารถโดดเด่นทั้งการว่ายน้ำและเล่นเกม แต่ดูจะไม่ค่อยฟิตนัก ภายหลังการแข่งขันก็ได้คุยกัน จึงทราบว่าชื่อสืบยศ นาคะเสถียร เรียนอยู่คณะวนศาสตร์ และโตมาจากลุ่มน้ำบางปะกง ผู้เขียนได้ชมว่ามีความสามารถดีพร้อมกับชักชวนให้ทำการฝึกซ้อมและไปคัดตัวเป็นนักกีฬาโปโลน้ำทีมชาติ ในการแข่งขันกีฬาแหลมของ (SEAP Games) ครั้งที่ 7 ซึ่งมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือน ธันวาคม 2514 แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้เจอกัน สอบถามจากเพื่อนๆ ทราบว่าสืบยศมีปัญหาเกี่ยวกับไซนัสอักเสบ คงจะไม่เอาดีทางนี้

จนถึงปี พ..2519 ผู้เขียนไปราชการที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว (ชื่อในขณะนั้น) สังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่งเดินออกมาจากราวป่า เข้าไปทางบ้านพักเจ้าหน้าที่ก็รู้สึกสงสัย จนถึงเวลาอาหารเย็นได้คุยกัน จึงทราบว่าบุรุษร่างสูงโปร่ง ใส่แว่นสายตาสั้นในชุดคล้ายๆ นักศึกษาวิชาทหารคือ สืบยศที่ผู้เขียนเคยชักชวนให้ไปเป็นนักโปโลน้ำทีมชาตินั่นเอง และในวันนั้นเขาเป็นผู้นำทีมออกลาดตระเวนป่าจากหน่วยพิทักษ์ป่าเขาอ่างช้างน้ำ ที่อยู่ด้านตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียวเขาชมภู่ในท้องที่อำเภอบ้านบึง เดินลัดป่าข้ามเขามาออกด้านตะวันตก บริเวณห้วยชันตาเถรตามที่ผู้เขียนได้พบเห็นในตอนแรก

ทราบต่อมาว่า สืบยศ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สืบ และเมื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวนศาสตร์แล้ว ได้เข้าทำงานที่การเคหะแห่งชาติอยู่พักหนึ่ง พร้อมกับศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ที่คณะวนศาสตร์และเมื่อสอบบรรจุเข้ารับราชการที่กรมป่าไม้ได้ใน พ..2518 ได้ไปปฏิบัติราชการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียวเขาชมภู่ และสมัครขอรับทุนศึกษาระดับปริญญาโทของ British Council ไว้ด้วยโดยมาทราบผลการได้รับทุน หลังจากที่สำเร็จปริญญาโทจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย สืบตัดสินใจไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิชาอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษา และเมื่อกลับมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ..2523
.

สัตว์ป่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ l Photo สืบ นาคะเสถียร

.
สืบมีชีวิตวัยเด็กที่โตจากต่างจังหวัด คือ ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา จึงมีความเข้าใจและผูกพันกับธรรมชาติเป็นอย่างดี ยิ่งได้เข้ามาทำงานในหน่วยงานด้านการอนุรักษ์คือกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำให้สืบได้ทำงานที่ตนเองชอบและเคยร่วมกิจกรรมทางด้านนี้มาตั้งแต่เป็นนิสิตแล้วโดยสืบเองก็มีความสามารถพิเศษที่สามารถสื่อและถ่ายทอดเรื่องของธรรมชาติเป็นภาษาง่ายๆ ให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและนำไปสู่การปฏิบัติกับสิ่งมีชีวิตทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นมนุษย์และสัตว์ป่า ที่ควรจะอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ได้เห็นกลอนบทหนึ่งที่สืบได้แต่งขึ้น ในช่วงที่คนนิยมเลี้ยงชะนีกันมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการได้ลูกชะนีมาเลี้ยงนั้นเกิดจากการฆ่าแม่เพื่อเอาลูกแทบทั้งสิ้น บทกวีนั้นมีว่า

เสียงปืนที่ดังลั่น
ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่กอดไว้
กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่
หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน
จึงไม่คืนชีวามา
โทษใดให้ประหาร
ศาลไหนพิพากษา
หากลูกท่านเป็นสัตว์ป่า
ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก
ท่านประจักษ์บ้างหรือไฉน
โปรดเถิดจงเห็นใจ
สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน

สืบ นาคะเสถียร
1 พฤษภาคม 2518

กลอนบทนี้ได้มีการนำไปเผยแพร่กันอย่างแพร่หลาย เป็นงานกวีชิ้นแรกๆ ของสืบ ที่หลายคนจำกันได้และนำไปรณรงค์มิให้มีการซื้อขายลูกชะนีที่ได้ผลอย่างดียิ่ง

สืบกับผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น เมื่อสืบสำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากอังกฤษกลับมาทำหน้าที่หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระและกรมป่าไม้จัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานพิทักษ์ป่า ตอนต้นปี พ.. 2523 ที่บางพระ เพื่อให้ลูกจ้างชั่วคราวรายวันที่ทำงานอยู่กับหน่วยงานในสังกัดกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้มีโอกาสฝึกอบรมเพิ่มทักษะและความสามารถในการปฏิบัติงานก่อนที่จะได้รับการบรรจุให้เป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่าต่อไป

สืบจึงเป็นเสมือนครูใหญ่ที่จะต้องดูแลผู้เข้ารับการฝึกอบรม วิทยากรและครูฝึกตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือนของการฝึกอบรม จึงมักจะเห็นสืบเดินดุ่มๆ คอยตรวจตราความเรียบร้อยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ทำให้การฝึกอบรบได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง 

ในช่วงกลางคืน สืบมักจะนำสไลด์ที่ถ่ายไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงที่ศึกษาปริญญาโทในอังกฤษมาฉายและบรรยายประกอบให้ผู้เข้าฝึกอบรมและผู้สนใจได้รู้เห็นตัวอย่างดีๆ ในการอนุรักษ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพและเรื่องราวของ Slimbridge ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ เป็นรูปแบบที่สืบมีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้เกิดขึ้นที่บางพระ โดยสืบมักจะกล่าวเสมอว่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ Slimbridge ไม่มี เช่น กระต่ายป่าและสัตว์เมืองร้อนอีกหลายชนิดซึ่งน่าจะเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญในการนำชื่อเสียงมาสู่บางพระและประเทศไทยในอนาคต

ด้วยความที่อ่างเก็บน้ำบางพระเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมสะดวก จึงมีหน่วยงานเข้ามาขอใช้ประโยชน์โดยตั้งเป็นที่ทำการหลายหน่วยงาน รวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียวเขาชมภู่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใหญ่กว่าก็ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระด้วยเช่นกัน สืบจึงทำงานด้วยความยากลำบากและไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ กระต่ายป่าที่สืบหวงแหนและตั้งใจจะดูแลให้ดีที่สุดก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นแขกของหน่วยงานต่างๆ ด้วย ผู้เขียนได้เคยเห็นสืบอารมณ์เสียอย่างรุนแรงที่ไม่สามารถเอาเรื่องกับผู้ทำให้กระต่ายป่า 2 ตัวตายโดยอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุถูกรถทับได้ และเข้าใจว่าเรื่องนี้คงจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่สืบต้องถอยจากบางพระโดยการขอย้ายตัวเองเข้าไปทำงานด้านวิชาการในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า
.

สัตว์ป่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ l Photo สืบ นาคะเสถียร

.
ผู้เขียนเจอสืบที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าเมื่อปี พ.. 2526 หลังจากที่เขาเข้ามาทำงานที่ฝ่ายวิชาการแล้ว  หลายวัน สืบบอกว่าผมย้ายเข้ามาทำงานที่ส่วนกลางแล้ว พี่มีอะไรให้ช่วยบอกได้เลยครับ

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า อนุสัญญามรดกโลก ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ UNESCO มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในประสานงานกับ UNESCO โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยประสานงานกลางระหว่างหน่วยงานปฏิบัติ คือกรมศิลปากรและกรมป่าไม้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกธรรมชาติ

เครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ในช่วงแรกนี้คือ สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีบุคคลในระดับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มารวมกลุ่มกันทำงานด้านการอนุรักษ์ โดยได้รับการร่วมมือจากสำนักคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ให้ใช้สถานที่และเจ้าหน้าที่มาทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ เมื่อมีการประชุม

กรมป่าไม้ได้เสนอพื้นที่ 4 แห่งพร้อมด้วยข้อมูลเบื้องต้น เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ (World Heritage List) คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร 

ในขณะนั้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกทางธรรมชาติของอาเซียนอยู่แล้วส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีความหลากหลายทางธรรมชาติสูงและเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ที่ไม่มีการบุกรุกครอบครองของชาวบ้าน ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ที่ประชุมสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมมีข้อเสนอให้รวมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกับเขตทุ่งใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันอยู่แล้วเข้าด้วยกัน และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีก 1 แห่ง รวม 2 แห่ง เพื่อนำเสนอไปขึ้นบัญชีมรดกโลกและแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยนายไพโรจน์ สุวรรณกร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สัตว์ป่าได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานชุดนี้ด้วย

การรวมทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง เข้าเป็นพื้นที่เดียวกันนั้นสร้างความมั่นใจว่าจะมีโอกาสสูงมากในการได้รับการพิจารณาให้ขึ้นบัญชีในทำเนียบมรดกโลก แต่ก็เป็นงานหนักในการจัดทำรายงานตามหัวข้อที่กำหนดเพราะนอกจากพื้นที่จะใหญ่โตขึ้นแล้ว ข้อมูลต่างๆ ของทุ่งใหญ่นั้นยังมีน้อยและไม่สมบูรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ (Publication) เสนอต่อกรรมการอนุสัญญามรดกโลกในขั้นตอนสุดท้าย

.
อ่าน รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 2 ทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง บนเส้นทางสู่พื้นที่มรดกโลก 

 


ผู้เขียน นายจิระ จินตนุกูล เกิดเมื่อเดือนมกราคม 2487 และศึกษาระดับประถม / มัธยมที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ปริญญาตรี (วน.บ.) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ.2510)
ปริญญาโท (M.S.) จาก University of Tennessee U.S.A. (พ.ศ.2517)
นักกีฬาโปโลน้ำทีมชาติไทย (พ.ศ.2508 – 2514)
รับราชการ (พ.ศ.2510 – 2547)
หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า
ผู้อำนวยการส่วนวิจัยสัตว์ป่า สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้
ผู้อำนวยการส่วนวิจัยเศรษฐกิจ และพัฒนาการจัดการป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้