8 – 19 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พื้นที่อุ้มผาง และเจ้าหน้าที่โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก จัดวงประชุมทบทวนกติกาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก 7 กลุ่มบ้าน เพื่อให้เกิดกรอบการใช้ทรัพยากรในป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
ข้อตกลงการใช้ประโยชน์ที่ทำการทบทวนเป็นส่วนต่อยอดของโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และชุมชนทั้งหมดในกลุ่มป่าตะวันตกได้ทำข้อตกลงร่วมกันไว้ ด้วยหลักคิดที่ว่าชุมชนจะมีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า เพื่อให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้
ซึ่งนอกจากชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก กลุ่มชุมชนอื่นๆ ในผืนป่าตะวันตกต่างทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์พื้นที่แต่ละชุมชนด้วยเช่นกัน แต่มีรายละเอียดเนื้อหาจะแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ทั้งจากสภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน
ธนบัตร อุประ เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พื้นที่อุ้มผาง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานโครงการและกิจกรรมต่างๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อธิบายถึงรูปแบบการทบทวนข้อตกลงการใช้ประโยชน์ชุมชนว่า เป็นการนำข้อตกลงเดิมที่เคยวางไว้มาทบทวนและหารือเพิ่มเติมถึงการดำเนินตามกติกาในช่วงที่ผ่านมาว่ามีปัญหาอย่างไร ข้อไหนทำได้ ข้อไหนทำไม่ได้ และจะเดินหน้าต่อกันไปอย่างไร
ข้อตกลงการใช้ประโยชน์ชุมชน ของ 7 กลุ่มบ้าน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก ประกอบด้วย บ้านยูไนท์ บ้านกรูโบ บ้านแม่จันทะใหม่ บ้านแม่จันทะเก่า บ้านทิปาเก บ้านตะละโคล่ง และบ้านซ่องแป๊ะ เดิมมีด้วยกันทั้งหมด 10 ข้อ ประกอบไปด้วย
- พื้นที่ผ่อนปรนสามารถใช้ประโยชน์ได้เฉพาะราษฎรในชุมชนนั้นๆ เท่านั้น
- ห้ามมิให้มีการซื้อขายที่ดินทั้งใน และนอกพื้นที่ผ่อนปรนโดยเด็ดขาด
- การใช้พื้นที่ในเขตพื้นที่ผ่อนปรนสามารถใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนมาก่อนเท่านั้น
- ห้ามมิให้แผ้วถางป่านอกเขตพื้นที่ผ่อนปรนโดยเด็ดขาด
- ห้ามมิให้แผ้วถางป่า ซึ่งเป็นป่าสมบูรณ์ (ป่าใหม่) ในเขตพื้นที่ผ่อนปรนโดยเด็ดขาด
- ห้ามล่าสัตว์ป่าโดยเด็ดขาด
- ห้ามจับปลาในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยเด็ดขาย
- การสร้างที่อยู่อาศัย ต้องขออนุญาต และผ่านการพิจารณาความเหมาะสมของคณะกรรมการหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ก่อน
- ชุมชนต้องร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในเขตชุมชนของตนเองและชุมชนอื่นๆ
- หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ตามข้อ 1-9 ให้คณะกรรมการหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ร่วมกันพิจารณาบทลงโทษตามเห็นสมควร หรือดำเนินการตามกฎหมาย
ในภาพรวมการทบทวนข้อตกลง ธนบัตร เล่าว่าส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับข้อตกลงเดิม แต่มีบางข้อที่ต้องเพิ่มความชัดเจนหรือยืดหยุ่นกติกาให้ไม่แข็งหรือหย่อนเกินไป โดยเปิดเวทีให้ถกเถียงและหาข้อตกลงร่วมกัน
“ยกตัวอย่าง เรื่องการสร้างที่อยู่อาศัย เดิมทีอนุญาตให้ใช้ไม้ล้ม แต่ตอนนี้ไม้ล้มไม่ได้มีมาก ชุมชนจึงขอตัดไม้ใหม่มาทำแทน ถ้าตัดใหม่จะตัดได้แค่ไหน และจะปลูกคืนเท่าไหร่ หรือเรื่องการจับสัตว์น้ำ จะใช้วิธีจับแบบไหนที่ไม่สร้างผลกระทบต่อแหล่งพันธุกรรมปลา หรือไม่เป็นการจับแบบเกินพอดี” ธนบัตรอธิบาย
แต่ประเด็นสำคัญที่ ธนบัตร สะท้อนออกมา คือ ความห่างเหินระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนในชุมชน ทำให้เกิดความยากลำบากในการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา
“พอเจ้าหน้าที่ต้องไปปฏิบัติภารกิจอื่น ไม่ได้แวะเข้ามาในหมู่บ้านเหมือนเช่นตอนทำโครงการ ก็ทำให้กติกาบางข้อที่อาจต้องมีการหารือเป็นกรณีพิเศษไม่สามารถดำเนินการได้ และบางครั้งอาจนำไปสู่การละเมิดกฎกติกา” ธนบัตร เล่าว่า ทางเจ้าหน้าที่รับทราบปัญหาและยินดีที่ปรับปรุงเพื่อเป็นทางออกที่ดีในอนาคต
ข้อสรุปจากการประชุมทั้ง 7 กลุ่มบ้าน ตกลงกันที่ที่ยังคงกฎกติกาไว้เช่นเดิม โดยให้คณะกรรมการประจำหมู่บ้าน หรือเรียกในชื่อเต็มว่า ชุดรักษาความปลอดภัยและอนุรักษ์ทรัพยากรหมู่บ้านหมู่บ้าน (ชรบ.) เป็นผู้ดูแลกฎกติกา
“หากใครในชุมชนทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎกติกา ก็จะใช้วิธีการตักเตือนโดยคนในชุมชนเองก่อน เพราะชาวบ้านจะเชื่อฟังชาวบ้านด้วยกันเอง แต่หากเตือนแล้วไม่ฟัง ยังทำผิดซ้ำซากก็จะประสานให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเอากฎหมายเข้ามาบังคับใช้กับผู้กระทำผิดแทน”
ปัจจุบัน ชุดรักษาความปลอดภัยและอนุรักษ์ทรัพยากรหมู่บ้านหมู่บ้าน (ชรบ.) ของทั้ง 7 กลุ่มบ้าน มีทั้งหมด 69 คน แต่ละกลุ่มบ้านก็จะมีชรบ. ดูแลกลุ่มบ้านละประมาณ 6 – 10 คน
งานของชรบ.หรือคณะกรรมการประจำหมู่บ้านไม่ได้มีแต่การดูแลกฎกติกาชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการร่วมลาดตระเวนปกป้องผืนป่ากับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกด้วย
บทส่งท้ายของเรื่องนี้ นอกจากการทบทวนข้อตกลงการใช้ประโยชน์ ในวงประชุมได้พูดคุยถึงโครงการใหม่ที่กำลังจะดำเนินการในอนาคต คือ โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ซึ่งเน้นไปที่การดูแลรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง (มีชื่อเรียกโครงการนี้สั้นๆ ว่าโครงการเสือ)
อย่างที่ทราบกันว่า ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร คือส่วนหนึ่งมรดกโลก เป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีสัตว์ป่าอาศัยชุกชุม โดยเฉพาะเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แม้นานาประเทศจะชื่นชมและยอมรับประเทศไทยว่ามีศักยภาพและความสามารถในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้เป็นอย่างดีจากการทำงานของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ แต่ก็ไม่อะไรรับรองได้ว่าอนาคตของเสือโคร่งจะสดใสไร้ขวางหนาม หากประชาชนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ
ในวันนี้นอกจากกิจกรรมและโครงการที่ส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ร่วมกันกับผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างสันติสุขแล้ว อนาคตจะทำอย่างไรต่อไปให้ชุมชนในพื้นที่ป่าเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างเสือโคร่งได้อย่างมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่กำลังเตรียมดำเนินการกันในอนาคตอันใกล้
ติดตามเรื่องราวงานดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดได้ที่ โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก
ร่วมสนับสนุนกิจกรรมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านแอพพลิเคชั่น True Money Wallet