มลภาวะทางอากาศในเอเชียถึงระดับอันตราย

มลภาวะทางอากาศในเอเชียถึงระดับอันตราย

รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่า สาเหตุการตายร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตทั้งหมด 6.5 ล้านรายในทวีปเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวข้องกับมลภาวะทางอากาศ

 

บ่อยครั้งที่ฝุ่นควันปกคลุมน่านฟ้าของเมืองใหญ่หลายแห่งในภูมิภาคนี้ ทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อปกป้องตัวเองเมื่ออยู่นอกอาคาร “เราใช้เวลาราว 1 ใน 3 ของวันในสภาพแวดล้อมที่อยู่ในระดับปนเปื้อนตามมาตรฐานสหภาพยุโป” Dimitri der Boer ผู้นำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และกลุ่มทนายความนักรณรงค์ชื่อว่า ClientEarth แสดงความเห็น “หากท้องฟ้าเริ่มดูขมุกขมัว เราจะต้องปิดประตูและหน้าต่างของที่พัก เปิดเครื่องกรอกอากาศ และห้ามออกกำลังกาย นี่เป็นวิธีปฏิบัติที่เราต้องทำตาม” เขากล่าวเสริม

ข้ามไปที่ฮ่องกง สถานการณ์ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก จากที่ Cherrie Tam Cheuk Yi หนึ่งในผู้อยู่อาศัยเล่าให้เราฟัง “มลภาวะทางอากาศที่นี่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าลมพัดมาจากทางเหนือ ก็จะพาเอามลภาวะมาด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะเห็นท้องฟ้าที่ขุ่นมัวทึมเทา บ้างครั้งก็เป็นสีส้มประหลาด วิสัยการมองเห็นก็จะย่ำแย่ ถ้าคุณลองยืนอยู่ฝั่งหนึ่งของท่าเรือวิคตอเรีย คุณจะมองไม่เห็นฝั่งตรงข้าม ทุกอย่างถูกซ่อนอยู่หลังม่านควัน มวลอากาศก็จะแน่นๆ และมีกลิ่นจางๆ”

นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สภาวะดังกล่าวยังทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และท้ายที่สุด ย่อมส่งผลกระทบต่อความพยายามของภูมิภาคที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน แต่คำถามคือ อะไรคือต้นเหตุของการเกิดมลภาวะที่เป็นอันตรายเหล่านี้

หากพูดในแง่ผลกระทบด้านสุขภาพ มลภาวะทางอากาศที่อันตรายที่สุดคือฝุ่นละออกขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เราอาจคุ้นหูว่า PM 2.5 ซึ่งจะสามารถทะลุเข้าไปในปอดและกระแสเลือดได้มากกว่า ซึ่งที่มาของฝุ่นละอองเหล่านี้ก็มีหลายแหล่ง แต่ประเด็นที่มีการถกเถียงมากที่สุดว่าเป็นสาเหตุคือการเผาไหม้ถ่านหิน โดยเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรมหนักอย่างประเทศจีน

“ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักของจีน โดยไฟฟ้าราวร้อยละ 70 ของจีนนั้นผลิตโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง” Dimitri der Boer ระบุ “ในจีนจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักมากมายที่ใช้พลังงานค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกล้า ซีเมนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งใช้พลังงานถ่านหินเป็นหลัก”

 

รายงานสภาวะอากาศทั่วโลก พ.ศ. 2560 (2017 State of Global Air) ระบุว่า พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของ PM 2.5 มากที่สุดในปี พ.ศ. 2558 นั้นเชื่อมโยงกับการเผาไหม้ของถ่านหิน คือบริเวณทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย ประเทศจีน และบางส่วนของทวีปแอฟริกา

 

การใช้ถ่านหินเป็นพลังงานเชื้อเพลิงภายในบ้านก็นับว่าเป็นปัญหาเช่นเดียวกัน ปัจจุบัน หลายครอบครัวยังใช้เชื้อเพลิงอย่างถ่านหินให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว “คุณอาจเจออาคารขนาดใหญ่หรือชุมชนที่ใช้ระบบให้ความร้อนจากส่วนกลางที่ใช้พลังงานถ่านหิน รวมถึงบางบ้านขนาดเล็กที่ใช้เตาเพื่อความอบอุ่น โดยใช้ถ่านหินคุณภาพต่ำเป็นเชื้อเพลิง” Dimitri der Boer อธิบาย

นอกจากถ่านหิน ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คุณภาพอากาศในเอเชียค่อนข้างแย่ เช่น เทคโนโลยีที่ไม่ค่อยดีนัก ระบบการขนส่ง ความหนาแน่นของประชากร และสภาพภูมิอากาศ

Lauri Myllyvirta นักรณรงค์จากกรีนพีซ อธิบายว่า “บริเวณที่เผชิญมลภาวะรุนแรงที่สุดคือที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือของอินเดีย (Indo-Gangetic Plain) เนื่องจากมีองค์ประกอบทั้ง ประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ใช้พลังงานมาก เทคโนโลยีที่ล้าสมัยในโรงงาน ยานพาหนะ และโรงไฟฟ้า” เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศกำลังพัฒนาอย่างพม่าซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ล้าหลัง ก็มีส่วนสำคัญต่อมลภาวะทางอากาศในประเทศ

อย่างไรก็ดี ประเทศที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัย อย่างจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ก็เผชิญปัญหาไม่ต่างกัน เนื่องจากระดับการใช้พลังงานที่สูงกว่ามาก และที่สำคัญคือการใช้พลังงานจากถ่านหิน ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม การขนส่งจะเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากขาดโครงสร้างการคมนาคมพื้นฐาน เมืองฮานอยและโฮจิมินห์ของเวียดนาม ต่างก็เผชิญกับมลภาวะค่อนข้างมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องใช้มอเตอร์ไซค์ในการสัญจร เนื่องจากไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม

สภาพอากาศทางตะวันตกของเมืองเดลี ประเทศอินเดีย / PHOTO Jean-Etienne Minh-Duy Poirrier

 

แล้วแต่ละเมืองมีการป้องกันมลภาวะอย่างไร ?

ในกรุงปักกิ่ง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้รับคำเตือนเรื่องสภาพอากาศที่เป็นอันตราย และแนะนำให้ประชาชนอยู่ในอาคารและเปิดเครื่องกรองอากาศ แต่ในประเทศที่ยากจนอย่างรุนแรง เช่น อินเดีย ประชากรที่อยู่ในอาศัยในเขตเมืองอาจไม่มีเงินพอที่จะซื้ออุปกรณ์เช่นนั้น และต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยวิธีอื่น

สำหรับประเทศเวียดนาม ทางออกระยะสั้นคือใช้หน้ากากอนามัยขณะเดินทาง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีรถเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ผ้าปิดปากบางประเภทก็แทบไม่ช่วยป้องกันเราจากฝุ่นละออง PM 2.5 การรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเน้นให้ซื้อหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันมลภาวะได้ และเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

Dimitri der Boer ระบุว่า ความโปร่งใสและการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านคุณภาพอากาศมีส่วนช่วยอย่างมากในการปรับทัศนคติ เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ทั้งระดับอุตสาหกรรมและระดับครัวเรือน Lauri Myllyvirta จากกรีนพีซก็มีความเห็นคล้ายคลึงกัน โดยเสริมว่า “จีนเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรงเมื่อ 7 ปีก่อน หลังจากนั้น เราพบว่าระดับ PM 2.5 ในภาคตะวันออกของจีนลดลงถึงร้อยละ 20 – 30 จากการใช้มาตรฐานใหม่ในการจำกัดการปล่อยมลภาวะจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงการใช้ถ่านหินน้อยลงในอุตสาหกรรมต่างๆ”

การใช้ถ่านหินที่ลดลงมีสาเหตุมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นขึ้นขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีการตรวจสอบและลงโทษโรงงานที่ละเมิดข้อบังคับอย่างจริงจัง Lauri Myllyvirta มองว่าประเทศจีนเดินหน้าได้ตามแผนการลดมลภาวะ แต่ประเทศอย่างอินโดนีเซียและเวียดนามยังอาจต้องใช้เวลาอีกมาก กว่าที่คุณภาพอากาศในเมืองจะดีขึ้น

ในอนาคตอันใกล้ ผู้นำของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียจะต้องพัฒนากลยุทธ์ สร้างความตระหนักต่อสาธารณะ และใช้นโยบายที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดมลภาวะ หากพวกเขายังต้องการการเติบโตในระยะยาว

 


 

ถอดความและเรียบเรียงจากAir pollution in cities across Asia has reached a dangerous tipping point โดย Robyn Wilson
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์