“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 4

“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 4

“วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว
เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”


ในช่วงเวลานั้นเอง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะทำให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 140,000 ไร่ ต้องจมน้ำกลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำและกำลังได้รับการคัดค้านจากนักอนุรักษ์ฯ นักวิชาการ ข้าราชการกรมป่าไม้บางส่วน และชาวเมืองกาญจนบุรี ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาล และเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

ในปี 2530 รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะอนุมัติโครงการขนาดยักษ์แห่งนี้ ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวายมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และกำลังตกเป็นรองทั้งข้อมูลและการเผยแพร่

สืบ นาคะเสถียร ซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์มาเป็นเวลานาน จึงได้เข้าร่วมการต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างแข็งขัน โดยใช้บทเรียนจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานเป็นกรณีศึกษา

วีรวัธย์ ธีระประสาธน์ เพื่อนสนิทของสืบและหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเวลานั้น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการชักชวนให้ สืบ นาคะเสถียร ไปช่วยทำงานด้านข้อมูลในการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน เขากล่าวว่า

“สืบก็รู้ว่าผมค้านเขื่อน ช่วงนั้นสืบเขาเป็นนักวิจัย ไม่ค่อยมีมิติทางด้านงานเคลื่อนไหว สืบก็เล่าให้ฟังว่างานอพยพสัตว์ป่าไม่ประสบความสำเร็จ สัตว์รอดไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทีนี้เขื่อนน้ำโจนก็มีโครงการอพยพสัตว์ป่าเหมือนกัน เราจึงคิดว่าน่าจะเอากรณีที่เชี่ยวหลานมาเป็นบทเรียนว่า สัตว์ตายมากเพียงใด สืบก็เห็นด้วย เราจึงจัดนิทรรศการทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อให้คนเมืองกาญจน์ได้รู้จักป่าทุ่งใหญ่ฯ ว่าคืออะไร สืบก็มาเสนอข้อมูลว่า ถ้ามีการสร้างเขื่อนแล้ว การอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่จะมีปัญหาอะไรบ้าง จำได้ว่าคนเมืองกาญจน์ประทับใจการพูดของสืบมาก และรู้สึกจะเป็นครั้งแรกที่สืบพูดว่า เขาพูดในนามของสัตว์ป่าที่กำลังจะตาย”

บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์เมืองกาญจน์ ยอมรับว่าสืบเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พ่อค้าอย่างเขากลายมาเป็นนักอนุรักษ์จนถึงทุกวันนี้

“คืนหนึ่งในงานนิทรรศการ คุณสืบ ฉายสไลด์เกี่ยวกับการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน แกเป็นคนบรรยายทำให้เรารู้สึกว่าสัตว์ป่าในภาพมีชีวิต มันร้องขอชีวิต มันครวญคราง เจ็บปวดรวดร้าว มันออกมาพร้อมกับน้ำเสียงของคุณสืบ จากเหตุการณ์นั้น ทำให้มองเห็นวิญญาณการต่อสู้และปกป้องสัตว์ป่าจากคำพูดของคุณสืบที่เราไม่เคยพบจากใครมาก่อน”

สืบเดินป่าเข้าทุ่งใหญ่ฯ เป็นเวลาห้าวันห้าคืนเพื่อเสาะหาข้อมูล และเมื่อได้สำรวจทางอากาศ เขาพบฝูงกระทิงอยู่รวมกันถึง 50 ตัว เป็นกระทิงฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นในเมืองไทย เป็นหลักฐานแสดงความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้ได้เป็นอย่างดี บางครั้งเขาได้มีโอกาสพานักข่าวลงพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน เล่าบทเรียนจากเขื่อนเชี่ยวหลานให้นักข่าวฟังว่า ในอนาคตบริเวณนี้จะกลายสภาพเป็นทะเลสาบ เนินสูงตรงนี้จะกลายสภาพเป็นเกาะจากการถูกน้ำท่วม สัตว์จะตายจากการสร้างเขื่อนได้อย่างไร

สืบใช้ความเป็นนักวิชาการของเขาอธิบายต่อสาธารณชนให้เห็นว่า เราจะสูญเสียสัตว์ป่ามหาศาลเพียงใดหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน สืบยึดถือหลักความจริงในทางวิชาการอย่างเคร่งครัด เขาทนไม่ได้ที่จะมีใครพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการ แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาของเขาเอง

อธิบดีกรมป่าไม้ในเวลานั้นได้ออกมาพูดสนับสนุนการสร้างเขื่อนในที่ประชุมแห่งหนึ่ง ว่าปัญหาด้านสัตว์ป่าไม่น่าเป็นห่วง สามารถแก้ไขได้ โดยยกตัวอย่างเรื่องนกยูงที่ต้องอาศัยหาดทรายดำรงชีพว่า แม้ว่าน้ำจะท่วมหาดทราย แต่เราสามารถสร้างหาดเทียมขึ้นมาทดแทนได้

สืบ ข้าราชการกรมป่าไม้ชั้นผู้น้อย ซึ่งอยู่ในที่ประชุมเวลานั้น ได้กล่าวแย้งอย่างไม่เกรงใจว่า “ความคิดนี้เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้เรื่องการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย”

สืบร่วมมือกับนักวิชาการคนอื่นๆ เร่งผลิตข้อมูลไม่ต่ำกว่า 10 ชิ้น ว่าด้วยผลกระทบต่อสัตว์ป่าหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน รวมถึงปัญหาการทำไม้ภายหลังการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำคัญให้แก่เขื่อนน้ำโจนเช่นกัน

อาทิตย์สุดท้ายก่อนการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่ สืบทำงานอย่างหนักจนสามารถจัดทำบทรายงานเรื่อง “การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน” ได้สำเร็จ รายงานชิ้นนี้ส่งผลอย่างมากต่อการพิจารณาเพราะเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาผลกระทบของสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อน

ในวันตัดสิน สืบเข้าชี้แจงต่อกรรมการด้วยตนเอง หลายฝ่ายสิ้นความสงสัยว่า สัตว์จำนวนมากต้องล้มตายลงหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน

“เราชนะแล้ว” สืบพูดสั้นๆ ภายหลักออกมาจากห้องประชุมด้วยรอยยิ้ม

ภายหลังเมื่อรัฐบาลมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน กลุ่มนักอนุรักษ์ได้วิเคราะห์ว่า น่าจะมีมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเสนอโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนในอนาคตอีก และในเวลานั้นประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จึงเห็นว่าสืบน่าจะมีส่วนสำคัญในการเขียนรายงานทางวิชาการเพื่อนำเสนอต่อกรรมการให้พิจารณาว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเหมาะสมที่จะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

สืบสัมผัสกับป่าทุ่งใหญ่มากขึ้น เขาไม่ได้สนใจข้อมูลทางด้านธรรมชาติด้านเดียว แต่เขายังสนใจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ชาวกะเหรี่ยง ว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร รักษาป่ากันอย่างไร ครั้งหนึ่งสืบลงไปเก็บข้อมูลด้านชุมชนที่หมู่บ้านแม่จันทะ เขาได้จดบันทึกเรื่องราวชีวิตของลุงเนียเต๊อะ ผู้เฒ่าที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือมาก และล่องแพมาถึงป่าดงวี่ ระหว่างทางที่ค้างคืนในป่า สืบมักจะเปิดเทปฟังเพลงกะเหรี่ยงที่เขาอัดเสียงไว้ตอนที่อยู่ในหมู่บ้าน วีรวัธน์ผู้ร่วมเดินทางไปครั้งนั้นเคยตั้งคำถามกับสืบว่าทำไมชอบฟังเพลงกะเหรี่ยง

“ฟังแล้วรู้สึกสงสารพวกเขา เพลงกะเหรี่ยงเป็นเพลงที่ฟังแล้วเศร้า เหมือนกำลังจะบอกให้พวกเราช่วยเขา…ถ้าไม่ลงมาที่นี่ ไม่ได้ศึกษาดูก็จะไม่รู้ว่าคนกะเหรี่ยงเป็นยังไง เขาอยู่กันอย่างไร”

นับแต่นั้นมา สืบได้พัฒนาความคิดจากการเป็นนักวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นนักอนุรักษ์ที่มีพื้นฐานทางวิชาการ สืบไม่เก็บตัวเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป เขาขึ้นไปพูดตามเวทีสาธารณะต่างๆ จนคนทั่วไปรู้จักสืบดี เพราะทุกครั้งสืบจะพูดออกมาจากหัวใจ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว”

 

อ่านต่อ สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 5


บทความโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าวที่ PPTV ได้รับรางวัลศรีบูรพา พ.ศ.2554 เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2535- 2543) และรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2550-2558) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร