“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 6

“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 6

“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง
โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”

 


 

ประมาณเดือนสิงหาคม 2533 ผมได้เจอพี่สืบเป็นครั้งสุดท้าย ผมทักพี่สืบว่าพี่ดูผมลงและเครียดผิดสังเกต น่าจะพักผ่อนเสียบ้าง

สืบพูดสั้นๆว่า “พี่จะทนไม่ไหวแล้ว”

ผมได้แต่ปลอบใจพี่สืบ แต่แกไม่ยอมพูดอะไรออกมามากกว่านั้น

โด่ง น้องชายคนเดียวบอกให้ผมฟังว่า สืบรักลูกน้องมาก ยอมแบกรับภาระที่ทางการจ่ายเงินเดือนให้ลูกน้องช้า

“พี่สืบไปขอยืมเงินแม่เดือนละ 2 หมื่นบาท แล้วไม่บอกเหตุผลว่าเอาไปทำอะไร ทางบ้านจึงเข้าใจว่าพี่สืบใช้เงินเปลือง เอาไปเลี้ยงผู้หญิงหรือเปล่า ทีหลังถึงรู้ว่าเอาไปให้ลูกจ้างรายวันในป่ายืมก่อน เพราะเงินเดือนของพวกเขาตกเบิกช้ามาก พวกนี้ไม่มีอะไรจะกิน พี่สืบก็ต้องเอาเงินจากทางบ้านออกไปก่อน”

สืบวิ่งเต้นหาแหล่งเงินทุนมาเพื่อเป็นสวัสดิการและประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างในห้วยขาแข้ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานของคนเหล่านี้ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายแทบทุกครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากทางการเลย

ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์ เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยบอกกับสืบว่า “คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับการที่มีใครตาย เพราะการตายไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคุณ พวกเขาทำงานของเขา คุณไม่ต้องไปรับผิดชอบพวกเขาถึง 100 เปอร์เซ็นต์หรอก”

แต่สืบตอบกลับทันทีด้วยความเด็ดเดี่ยวว่า “จะไม่มีใครต้องตายในเขตฯห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”

สืบเริ่มเข้าใจแล้วว่า หนทางเดียวที่จะทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดี คือการผลักดันให้ป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก สืบจึงรีบลงมือเก็บข้อมูลอย่างหนักเพื่อทำรายงานเสนอยูเนสโกจนสำเร็จในเวลาต่อมา

ต่อมาสืบพยายามผลักดันแนวความคิดเรื่องป่ากันชน คือบริเวณป่าสงวนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้งในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน ชาวบ้านสามารถมาใช้ประโยชน์ ตัดไม้หาของป่าได้ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นป่ากันชน ซึ่งจะทำให้ป่าห้วยขาแข้งปลอดภัยจากการบุกรุกด้วย

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่แนวความคิดนี้อยู่นอกเหนือพื้นที่ของห้วยขาแข้ง เป็นเรื่องของป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และข้าราชการท้องถิ่นที่จะมีอำนาจในการจัดการดังกล่าว แต่สืบก็พยายามอย่างหนัก วิ่งหาผู้ใหญ่ วิ่งหาข้าราชการที่เกี่ยวข้องคนนั้นคนนี้ตลอดเวลา ชี้แจงให้ทุกคนเห็นความสำคัญของแนวความคิดนี้เพื่อรักษาป่าที่ดีที่สุดผืนนี้ให้ได้

แต่ดูเหมือนจะมีเพียงความนิ่งเงียบในระบบราชการไทย ทุกครั้งผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้ได้แต่พูดว่า “เอาเลยสืบ คุณทำโครงการมา” แล้วทุกอย่างก็หายเงียบ

ภาพถ่ายสุดท้ายของสืบ นาคะเสถียร ที่ถ่าย ณ ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2533

เดือนพฤษภาคม 2533 รัฐมนตรีคนหนึ่งได้ไปตรวจพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการบอกเล่าจากบริษัททำไม้ชื่อดังแห่งหนึ่งว่ามีการลักลอบตัดไม้ในห้วยขาแข้ง สืบรู้ดีว่าเป็นการกลั่นแกล้งเขา สืบถูกรัฐมนตรีผู้นั้นเรียกพบที่กรุงเทพฯ เขาเตรียมข้อมูลอย่างดีเพื่อชี้แจงว่าเป็นการทำไม้นอกเขตห้วยขาแข้ง และชาวบ้านแอบไปตัดโดยมีผู้ใหญ่จากอำเภอลานสักหนุนหลัง สืบพยายามที่จะอธิบายถึงปัญหาอันยุ่งยากที่เขาและลูกน้องต้องประสบ แต่เขาไม่มีโอกาสชี้แจง เพียงแต่ได้รับคำบอกสั้นๆว่า “คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม”

สืบโกรธมากและตอบกลับไปว่า “ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากว่าท่านจะยืดเวลาหนึ่งวันให้ยาวไปกว่านี้ และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย”

สืบกลับออกมาด้วยความรู้สึกหนักอึ้งและถูกกดดัน เขาบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เขาเชื่อมั่นว่า ความพยายามแทบเป็นแทบตายของเขานั้นไม่ได้รับการตอบสนองจากใครทั้งสิ้น เขารู้สึกสิ้นหวังกับระบบราชการ เขาไม่ได้ภูมิใจกับการเป็นข้าราชการอีกต่อไป เขารู้ว่าเขาไม่อาจจะทำอะไรได้มากกว่านี้แล้ว

เขาบอกคนใกล้ชิดว่า “ทีนี้ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป”

ภายหลังเหตุการณ์ในวันนั้น โด่งน้องชายของเขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของพี่ชายว่า

“ตั้งแต่วันนั้นแกเสียใจมาก ปรกติเวลากลับบ้านแกจะมากินข้าวด้วย แต่ระยะหลังไม่กินอะไรเลย แกซื้อมาม่าเป็นโหล สามมื้อกินแต่มาม่าเหมือนอยู่ในป่า กำลังใจไม่ค่อยมี ดูแกเครียดมาก ผอมลงไปเยอะ มีครั้งหนึ่งแกเอามีดทิ่มทะลุโต๊ะเสียงดัง แล้วบ่นว่า ทำอะไรมันไม่ได้ ก่อนตายก็พูดว่า โด่ง พี่ไม่ไหวแล้ว”

หนึ่งอาทิตย์ก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จับพรานล่าสัตว์ได้ของกลางจำนวนมาก มีหัวค่างหลายหัว พร้อมปลอกกระสุนที่ใช้ล่า เมื่อเจ้าหน้าที่นำซากสัตว์เหล่านี้มาที่สำนักงานเขตฯ สืบลงมาดูด้วยความเครียดสุดขีด เพราะก่อนหน้านี้ลูกน้องของเขาคนหนึ่งที่เขานางรำออกไปลาดตระเวนตามคำสั่งของเขา ก็ถูกลอบยิงที่ลำห้วยขาแข้ง สืบโมโหมากถึงกับตะโกนออกไปว่า

“ถ้ามึงจะยิงลูกน้องกู มึงมายิงกูดีกว่า”

เช้าวันที่ 31 สิงหาคม สืบ นาคะเสถียร อยู่ในชุดกางเกงสีครีม สวมเสื้อสีส้มอ่อนๆ เดินขึ้นไปบนสำนักงาน เขียนหนังสือและครุ่นคิดอะไรบางอย่างจนกระทั่งตกบ่าย สืบเริ่มเอาสิ่งของที่เคยยืมมาไปคืนเจ้าของ ประมาณห้าโมงเย็นสืบเดินมาชวนลูกน้องคนสนิทสองสามคนนั่งกินเหล้า หนึ่งในนั้นคือ จิตประพันธ์ กฤตาคม หรือ หม่อง ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่ได้คุยกับสืบ หม่องถ่ายทอดบรรยากาศขณะนั้นให้ฟังว่า

“มาถึงแกก็บอกว่าเอาเหล้ามากินกัน กินไปคุยไปจนประมาณสองทุ่ม แกบอกให้พี่ยงยุทธวิทยุไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าจะไม่ไปแล้ว จะส่งวิดีโอไปให้แทน จนประมาณห้าทุ่มผมก็ขอแยกตัวไปเข้าเวร สักประมาณครึ่งชั่วโมงพี่สืบก็เดินตามออกมาขอบุหรี่สูบ และนั่งคุยกับยามถามทุกข์สุข ซึ่งก็แปลกเพราะยามคนนี้ทำงานมานานแล้ว แต่แกถามเหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน คุยได้ไม่นานแกก็บอกว่า เดี๋ยวพี่กลับไปบ้าน ผมอาสาจะไปส่ง แกบอกไม่ต้อง แล้วหันมายิ้มเหมือนกับคนที่มีความสุขที่สุด พร้อมกับยกมือขึ้นแล้วบอกว่า หม่องพี่ไปแล้วนะ”

ประมาณตีสี่ของวันที่ 1 กันยายน 2533 ยามในห้วยขาแข้งได้ยินเสียงปืนนัดหนึ่ง แต่ไม่ได้คิดอะไร ในป่าแห่งนี้เสียงปืนเป็นเรื่องธรรมดา จนประมาณสิบโมงเช้า เจ้าหน้าที่เริ่มแปลกใจว่าหัวหน้าสืบยังไม่ลงมากินข้าว หม่องจึงอาสาเดินไปตาม เมื่อไขกุญแจบ้านเข้าไป เขาพบร่างที่ไร้ลมหายใจของหัวหน้าสืบอยู่บนเตียง มีแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งเขียนข้อความไว้ว่า

“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร ผู้ตาย
(นายสืบ นาคะเสถียร)

 

สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งเขาอาจจะถูกยิงตายจากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย

สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งลูกน้องของเขาซึ่งเขาเป็นคนส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องถูกยิงตายอย่างไร้ค่าเพราะไม่มีใครสนใจ สืบไม่ใช้คนกลัวตาย แต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องเขาต้องตายไปต่อหน้า โดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้

สืบมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สัตว์ป่าและป่าไม้ในป่าห้วยขาแข้งอยู่รอด

เมื่อความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อห้วยขาแข้งถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากระบบราชการและผู้มีอำนาจในเมืองไทย ที่ไม่เคยสนใจปัญหาการทำลายธรรมชาติอย่างจริงจัง

เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อห้วยขาแข้งและทรยศต่อลูกทีมของเขา

แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น ความเชื่อของเขาเป็นจริงได้

สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการและความมุ่งมั่นของตัวเอง

บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้

 


บทความโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าวที่ PPTV ได้รับรางวัลศรีบูรพา พ.ศ.2554 เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2535- 2543) และรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2550-2558) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร