3 ช่วงเวลา สืบทอดเจตนา สืบ นาคะเสถียร

3 ช่วงเวลา สืบทอดเจตนา สืบ นาคะเสถียร

พ.ศ. 2533 – 2540

ผลงานที่ชัดเจนของมูลนิธิในช่วงแรกของการก่อตั้งมูลนิธิหลังการจากไปของคุณสืบ นาคะเสถียร คือการสร้างอาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร และรูปปั้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร โดยการประสานงานการระดมทุนและการก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2536 ใช้เงินก่อสร้างกว่า 3 ล้านบาท รวมถึงประสานการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ ให้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เช่น สถานีวิทยุแม่ข่ายผืนป่าตะวันตก (ตั้งที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยยู่ยี่) การดำเนินกิจกรรมกับชุมชนบริเวณแนวขอบป่าห้วยขาแข้ง การจัดอบรมและการปฏิบัติงานสิ่งแวดล้อมศึกษา ฯลฯ

 

นอกจากนี้คือการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณทั้งสิ้นเกือบ 6 ล้านบาท ตลอดจนถึงการเริ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าซึ่งได้จัดสรรเงินให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต ในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ราชการไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตในการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งบุตรธิดาเรียนจบการศึกษา ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้ช่วยเหลือดังกล่าวไปแล้ว กว่า 200 นาย

อนึ่ง นับแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้ร่วมกิจกรรมกับองค์กรพันธมิตรและเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่สำคัญคือการร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมผลักดันให้เกิดการประชุมเวทีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอันเป็นเวทีทางสิ่งแวดล้อมระดับชาติที่สำคัญที่สุดในช่วงทศวรรษนั้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการวิจัยสัตว์ป่าหลายโครงการ

พันธกิจประการสำคัญนับแต่ปี 2534 เป็นต้นมาคือการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร ในรูปแบบต่างๆ และการจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณคุณสืบ นาคะเสถียร เป็นประจำทุกปี

 

พ.ศ. 2541 – 2546

ในช่วงปี 2541 เป็นต้นมา มูลนิธิฯ เปลี่ยนโยบายจากสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานตรงต่อพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ มาเป็นการก่อตั้งกองทุนป่าตะวันตกเพื่อสนับสนุนโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ ร่วมกับกรมป่าไม้ และร่วมผลักดันให้ได้รับการสนับสนุนโครงการระยะยาวจากประเทศเดนมาร์กทำให้เกิดผลงานการสำรวจข้อมูลเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก นำไปสู่แนวคิดการจัดการพื้นที่ในลักษณะผืนป่าใหญ่ (Forest Complex) และการร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในผืนป่าตะวันตกอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้มูลนิธิฯ ได้ทำการพัฒนาโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนการทำงานโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตกจากรัฐบาลเดนมาร์ก ในโปรแกรมการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อรับภารกิจการทำงานกับภาคประชาสังคม ในพื้นที่รอบป่าตะวันตก 6 จังหวัด และทำงานหนุนเสริมชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ให้มีวิถีชีวิตและมีข้อตกลงที่สามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่อนุรักษ์ได้

ผลงานที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งของมูลนิธิฯ ได้แก่ การรณรงค์ทักท้วงโครงการที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า แหล่งธรรมชาติ และสิทธิชุมชน โครงการสำคัญที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมในการคัดค้าน ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่อก๊าซไทย-พม่า ผ่านป่าทองผาภูมิ การบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด การสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ผลกระทบจากเหมืองแร่บริเวณทุ่งใหญ่นเรศวรและผืนป่าโดยรอบ การก่อสร้างบ้านพักกลางป่าห้วยขาแข้งบริเวณเขาบันได โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์กรณีบ่อนอก-บ้านกรูด กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชและพระราชบัญญัติแร่ฉบับเหมืองใต้ดิน

 

ในขณะเดียวกันมูลนิธิฯ ยังคงสนับสนุนเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่จากกองทุนผู้พิทักษ์ป่าอย่างต่อเนื่อง จัดโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาให้กับครูและนักเรียน ตลอดจนชุมชนโดยรอบผืนป่าตะวันตก นอกจากนี้ยังจัดทำสื่อความหมายธรรมชาติและเอกสารวิชาการเกี่ยวกับป่าตะวันตกเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมถึงการจัดงานทำบุญและกิจกรรมรำลึก สืบ นาคะเสถียรเป็นประจำทุกปี

ในการเผยแพร่แนวคิดและรำลึกเหตุการณ์ 1 กันยายน มูลนิธิจัดกิจกรรมรำลึกสืบ นาคะเสถียรในวาระครบรอบ 10 ปีการจากไปของคุณสืบ ทั้งในการประชุมวิชาการและการจัดงานแสดงนิทรรศการและดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ

 

พ.ศ. 2547 – 2558

ในปี 2547-2550 เป็นช่วงสำคัญยิ่งของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของมูลนิธิที่มีบทบาทเฉพาะในการสนับสนุนการทำงานให้พื้นที่อนุรักษ์และเครือข่าย และรณรงค์เชิงนโยบายในส่วนกลางมาทำงานภาคสนามในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (โครงการจอมป่า) ในพื้นที่ชุมชนโดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน DANIDA ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างปี 2547 – 2553 ต่อมาได้ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการต่อจากกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยผลการปฏิบัติงานสามารถผลักดันให้เกิดการสำรวจแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ได้ถึง 131 ชุมชน มีการตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาช่วยดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างพื้นที่คุ้มครองกับชุมชน โดยมีการเดินลาดตระเวนดูแลพื้นที่สม่ำเสมอ

มีการหนุนเสริมวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับผืนป่า โดยสนับสนุนให้เกิดบ้านเรียนรู้เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชาวชุมชนในผืนป่า 34 แห่ง และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ สำหรับใช้เป็นสถานที่ดูงานและฝึกอบรม รวม10 แห่ง ส่งผลให้สามารถลดความขัดแย้ง และลดการบุกรุกพื้นที่ป่าในระดับพื้นที่ได้อย่างน่าพอใจ

ปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้รับการยอมรับจากระดับนโยบายให้เป็นต้นแบบการจัดการชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ สำหรับชุมชนที่ประชิดขอบผืนป่า 154 ชุมชน

ได้ร่วมกับกรมป่าไม้ จัดตั้งป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “กู้ป่า รักษาชุมชน” และเป็นแนวรั้วมนุษย์ที่เฝ้าระวังรักษาทรัพยากรในระดับท้องถิ่น ซึ่งส่งผลดีต่อการป้องกันและลดการใช้ทรัพยากรในผืนป่าใหญ่ภายใต้ชื่อโครงการ “ป่าชุมชน 30 ป่า รักษาทุกโรค” ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ต่อมาได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเป็น 64 ป่าชุมชน ในปี 2550 และขยาย

 

ภายใต้โครงการจอมป่ามูลนิธิยังรับประสานให้เกิดกระบวนการทำงานของภาคประชาสังคมของบุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีความสนใจในงานอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (กอต.) 6 จังหวัด” ในระหว่างปี 2547 – 2549 คณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติของผืนป่าตะวันตก อาทิ ร่วมยับยั้งการตัดถนนคลองลาน – อุ้มผาง ขอให้ยกเลิกการสร้างถนนผ่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และงานประสานความร่วมมือในการดูแลทรัพยากรร่วมกับชุมชนหลายโครงการ ปัจจุบันคณะกรรมการดังกล่าวรวมตัวกันจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (มอต.) เป็นพันธมิตรสำคัญที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

นอกจากการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและชุมชนดังที่กล่าวแล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังมีเครือข่ายการทำงานกับองค์กรอนุรักษ์อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญได้แก่ ร่วมเป็นคณะทำงานเวทีสิ่งแวดล้อมระดับชาติในปี 2547 และ 2548 การจัดสัมมนาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด การจัดสัมมนาเรื่องมอเตอร์เวย์ผ่านอ่าวไทย การจัดสัมมนาห้องสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อการอยู่เย็นเป็นสุข ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

ในพื้นที่นอกป่าตะวันตกมูลนิธิฯ ได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมและถิ่นที่อยู่ของนกตะกรุมซึ่งปัจจุบันเป็นนกใกล้สูญพันธุ์จากประเทศไทยที่ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา มาตั้งแต่ปี 2546 จนกระทั่งปัจจุบันชุมชนมีข้อตกลงรักษาบริเวณป่าพรุและป่าชายเลนบางส่วนที่เป็นแหล่งที่อยู่ของนกตะกรุมไว้ให้เป็นป่าอนุรักษ์ของชุมชนได้แล้ว

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่าตะวันตกเกิดขึ้นอย่างมากมาย มูลนิธิสืบนาคะเสถียรนับว่าเป็นองค์กรหลักในการเฝ้าระวังโครงการเหล่านั้น ได้แก่ โครงการตัดถนนผ่านป่าสายคลองลาน-อุ้มผาง สายผ่านทุ่งใหญ่นเรศวรจากสังขละบุรี-อุ้มผาง โครงการขุดอุโมงค์ส่งน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังจังหวัดอุทัยธานีผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์และอุทยานแห่งชาติพุเตย การต่ออายุใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าของเหมืองโมนิโก้ที่ต้องใช้เส้นทางขนส่งแร่ผ่านทุ่งใหญ่นเรศวร ทักท้วงการเปลี่ยนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางบริเวณน้ำตกทีลอซูเป็นอุทยานแห่งชาติ คัดค้าน (ร่าง) กฎหมายอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉบับใหม่ซึ่งร่างสมัยรัฐบาลที่ผ่านมามีเนื้อหาเปิดโอกาสให้มีการเช่าที่ป่า ทำการท่องเที่ยวและเปิดประเทศไทยเป็นแหล่งค้าสัตว์ป่า (ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังคงดำเนินการแก้ไข พรบ. นี้อยู่) รวมถึงคัดค้านการสร้างถนนผ่านอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน

และการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลังจากเกิดอุทกภัยใหญ่ในปี 2554 เขื่อนแม่วงก์ถูกฟื้นโครงการขึ้นมา ตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้โครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ปี 2555 เป็นเหตุให้เกิดการเดินเท้า 388 ก.ม. ของอ.ศศิน เฉลิมลาภ และประชาชนเข้าร่วมนับหมื่นคน เพื่อคัดค้านการพิจารณา EHIA โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) จนการพิจารณาได้ถูกระงับลง และมีการตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้นมาร่วมศึกษาข้อมูลด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสัตว์ป่า ที่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า EHIA ยังมีข้อบกพร่อง และควรยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่การคัดค้านยังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (ปี 2558) เนื่องจากกรมชลประทานยังไม่ถอนเรื่องการเสนอ EHIA โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และอยู่ระหว่างการนำกลับไปแก้ไข ปรับปรุงเพิ่มเติม เตรียมที่จะนำมาเสนอให้ คชก.พิจารณาต่อไป

 

นอกจากนี้มูลนิธิ ยังร่วมกับเครือข่ายในการคัดค้านกิจกรรมและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ฯลฯ นับเป็นช่วงสมัยที่มีนโยบายและโครงการที่ส่งผลกระทบต่องานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ามากที่สุดและรุนแรงที่สุด รวมถึงการลดบทบาทการดำเนินกิจกรรมขององค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากจากหลายปัจจัย

ในงานสวัสดิการเพื่อผู้พิทักษ์ป่าในช่วงที่ผ่านมา ยังคงสนับสนุนเงินช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอกับผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และกองทุนเพื่อการศึกษาของบุตรผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต โดยเฉพาะในปี 2558 มูลนิธิร่วมกับบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ดำเนินโครงการเพื่อผู้พิทักษ์ เพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และขอรับการสนับสนุนความช่วยเหลือ จนประสบความสำเร็จ ทั้งการประชาสัมพันธ์ และงบประมาณสนับสนุนเข้ากองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่ากว่า 2 ล้านบาท

สำหรับการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 1 กันยายนของทุกปี มีการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้กับผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาร่วมกิจกรรม 500 – 1,000 คน การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณ คุณสืบ การจัดนิทรรศการและการแสดงดนตรี สำหรับภาคเมือง มีการจัดงาน “จากป่า สู่เมือง” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรงเทพมหานคร เน้นการนำเรื่องราวในผืนป่าตะวันตก การทำงานอนุรักษ์ในประเทศไทย และสถานการณ์ป่าไม้ไทย มาถ่ายทอดให้สาธารณชนคนเมืองได้รับรู้ข้อมูล และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานอนุรักษ์ มีผู้ร่วมกิจกรรมปีละกว่า 5,000 คน

ในส่วนงาน Social Network ของมูลนิธิฯ มีการพัฒนางานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2554 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ อ.ศศิน เฉลิมลาภ ได้นำเสนอข่าว และข้อมูลผ่านช่องทาง Social Network ของมูลนิธิและตนเอง จนเป็นผลให้สื่อของมูลนิธิฯ ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูล สื่อสารงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่ากับสาธารณชนอันดับต้นๆ ของประเทศ ปัจจุบันมูลนิธิฯ ใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางการสื่อสารหลัก มีเฟสบุ๊ค เป็นช่องทางที่จะทำให้สาธารณชนได้รับทราบข่าวสารและติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว มีอินสตาแกรมกับทวิตเตอร์ เป็นสื่อทางเลือกของสังคม