เรียนรู้ชีวิต ‘สุภาพสตรีไพร’ ผ่านเรื่องราวของ สร้อยเพชร มูสิกะชาติ ผู้พิทักษ์ป่าหญิงแห่งแม่วงก์

เรียนรู้ชีวิต ‘สุภาพสตรีไพร’ ผ่านเรื่องราวของ สร้อยเพชร มูสิกะชาติ ผู้พิทักษ์ป่าหญิงแห่งแม่วงก์

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีพื้นที่ 558,750 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ถือเป็นแหล่งอาหารของสัตว์กินพืชที่สำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ทิศเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน ทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

หากกล่าวถึงความสำคัญในเชิงพื้นที่ นิตยสารคดีฉบับที่ 330 ประจำเดือนสิงหาคม 2555 ได้ระบุว่า ป่าที่ราบริมน้ำมีศักยภาพสูงในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แห่งในป่าตะวันตก คือริมน้ำแม่วงก์ และริมลำห้วยขาแข้ง ดังนั้นการกระจายตัวของพืชและสัตว์บางชนิดสามารถพบเฉพาะบริเวณริมลำธารที่มีน้ำไหลตามธรรมชาติเท่านั้น

ดังนั้นหน้าที่การดูแลคุ้มครองความหลากหลายทางระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าไม้ หรือสัตว์ป่าจึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้พิทักษ์ไพร มูลนิธิสืบนาคะเสถียรชวนคุยกับ สร้อยนางสาวสร้อยเพชร มูสิกะชาติ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ วัย 33 ปี สุภาพสตรีไพรผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผืนป่า

จากปักษ์ใต้สู่ป่าตะวันตก

เดิมที่สร้อยเพชรเป็นสาวนุ้ยจากเมืองปักษ์ใต้ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดสงขลา มาจนถึงช่วงวัยแสวงหาปัญญาในระดับอุดมศึกษา สร้อยเพชร เลือกเรียนในสาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จวบจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา มิตรสหายต่างแยกย้ายกันเข้าทำงานในองค์กรต่าง ๆ ในขณะที่สร้อยเพชรเลือกเข้าสู่พงรกชัฏด้วยการเข้าสมัครเป็น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง จังหวัดสงขลา ผืนดินแม่ที่ถือกำเนิด

ตอนเด็กบ้านอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง เราเห็นการแต่งกายของเจ้าหน้าที่เขาดูเท่ดี แต่ก็ยังไม่ได้คิดริเริ่มอยากจะทำเป็นอาชีพ ก็เรียนตามเพื่อนมาเรื่อย ๆ พอจบมาต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปตามความต้องการของตนเอง เราเห็นว่าป่าไม้มันมีอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งส่วนตัวก็ชอบกิจกรรมแนวผจญภัยชอบบุกป่าฝ่าดงอยู่แล้ว  ก็เลยเลือกตัดสินใจทำงานนี้

ต่อมาการเปลี่ยนแปลงด้านหน้าที่การงานได้เกิดขึ้นเมื่อสร้อยเพชรได้เลือกย้ายพื้นที่ปฏิบัติงานมายังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ความท้าทายใหม่ๆจึงเกิดขึ้นกับเธอจากสภาพผืนป่าอันชุ่มชื้นตลอดทั้งปีของภาคใต้สู่พื้นที่อันมีความหลากหลายของป่าแม่วงก์ส่งผลให้สร้อยเพชรได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง

การใช้ชีวิตในออฟฟิศป่าแม่วงก์

การมาปฏิบัติหน้าที่ยังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่ได้สร้างอุปสรรคในการทำงานให้กับสาวแดนสะตอมากนัก นอกจากงานสำนักงานที่ต้องทำควบไปกับกับการลาดตระเวนแล้ว ยังมีงานด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ สร้อยเพชรให้ความเห็นว่า การออกพบปะกับชุมชน มีการพูดคุยและให้ความรู้ตั้งแต่กลุ่มเยาวชน ไปจนถึงระดับผู้ใหญ่เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับความคิดความอ่านด้านการอนุรักษ์แล้วส่งต่อไปสู่พ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ปกครอง

สำหรับการตระเวนไพรอันถือเป็นงานสำคัญของผู้พิทักษ์ป่าสร้อยเพชรเล่าว่าแม้แต่คนทำงานในป่าอย่างเธอก็รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเวลาต้องออกลาดตระเวนเนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะต้องพบเจออะไรในป่าบ้างไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าหรือผู้ไม่หวังดี

เวลาต้องเข้าป่าทุกครั้งเราก็จะตื่นเต้น เพราะไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง เคยเหมือนกันที่เจอสัตว์ป่าอยู่ใกล้ ๆ อย่างครั้งนึงเคยได้ยินเสียงเสือโคร่งในระยะประมาณ 10 เมตร ต่างคนก็ต่างหยุดชะงักด้วยความเงียบ ซึ่งเสื้อโคร่งก็คำราม 3 ครั้งแล้วก็หลบไป มันก็เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นดี (หัวเราะ)”

สาวเท่แห่งแม่วงก์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในผืนป่าต่อว่า การออกตรวจทุกครั้งเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องหูไวตาไวจมูกไว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดมาจากการเก็บชั่วโมงบินของแต่ละคนสำหรับเจ้าหน้าที่ในผืนป่าแม่วงก์สร้อยทองถือเป็นหนึ่งในผู้เจนไพรเนื่องจากมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ป่ามากว่าหนึ่งทศวรรษ

สองมือถือปืน สองเท้าก้าวเดิน

ทุกครั้งก่อนจะมีลาดตระเวนจะมีการประชุมก่อนเสมอ ซึ่งการลาดตระเวนของสร้อยเพชรนั้นจะมีการแจ้งและกำหนดพิกัดในการเดิน อันเป็นเรื่องภายในที่ไม่สามารถบอกได้ ดังนั้นเวลามีจุดต้องสงสัยทางผู้บังคับบัญชาก็จะมีการแจ้งเตือนและส่งชุดเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่

สำหรับการลาดตระเวนในแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่ผู้พิทักษ์ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ต้องเข้าป่าประมาณ 5 – 6 วัน แต่ถ้ามีภารกิจด่วนก็อาจต้องเดินเพิ่มจากพิกัดเดิม ซึ่งไม่เกิน 2 วัน เนื่องจากเสบียงที่นำติดตัวไปมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับ 7 วันเท่านั้น

ดังนั้นถ้ามีภารกิจเร่งด่วนจริง ๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยส่งเสบียงมาให้เพิ่มเติม ซึ่งสร้อยเพชรเคยลาดตระเวนต่อเนื่องนานที่สุด 9 วัน 

โดยระยะการเดินหากเป็นภารกิจต่อเนื่อง 5 วัน เดินไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร  สำหรับชุดลาดตระเวนหนึ่งชุดจะมีประมาณ 6 – 7 คน ซึ่งตามหลักการไม่ควรมีเจ้าหน้าที่ต่ำกว่า 6 คน ในการออกตรวจเนื่องจาก จำนวนคนน้อยมีความเสี่ยงขณะที่ (อาจต้อง) ปะทะกับผู้ไม่หวังดี

ห้องเรียนในป่าของผู้พิทักษ์ไพร

ด้วยอุปนิสัยที่รักการผจญภัย และโหยหาความท้าทาย สร้อยเพชรได้รับการคัดเลือกเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรพิทักษ์ไพร โดยได้มีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้หญิงทั่วประเทศ ซึ่งในรุ่นของสร้อยเพชร มีจำนวนผู้หญิงที่เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 42 คน ในห้องเรียนของการฝึกฝน เริ่มจากการให้ความรู้และการฝึกใช้อาวุธ ศิลปะการป้องกันตัว รวมไปถึงการสื่อสารเจรจาต่อรอง 

ผู้หญิงบางทีอาจไม่จำเป็นต้องบู๊หรือต้องใช้อาวุธแบบเต็มตัว แต่การเจรจาและพูดคุยกับผู้ต้องหานั้นถือเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากวิธีการสื่อสารของผู้หญิงจะมีความแตกต่างกับน้ำเสียงของผู้ชาย น้ำเสียงของผู้หญิงนั้นมีผลต่อการโน้มน้าวมากกว่า

อีกหลักสูตรหนึ่งที่สร้อยเพชรได้เข้ารับการอบรมคือการลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือ Smart patrol ซึ่งเป็นการฝึกร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้งชายหญิง แน่นอนว่าการฝึกอบรมและปฏิบัติทุกกิจกรรมไม่มีการแบ่งหรือจำแนกเพศความทรหดอดทนของสร้อยเพชร จึงส่งผลให้เธอได้รับสัญลักษณ์หน้าเสือซึ่งเป็นตราพิเศษสำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรม มาประดับติดที่กระเป๋าบริเวณหน้าอกซ้าย

เมื่อ 3 ปี ที่แล้ว จำได้ว่าตอนฝึกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เราก็เป็นผู้หญิงรุ่นแรกที่ต้องฝึกร่วมกับผู้ชาย น้ำไม่ได้อาบแถมต้องใช้ชุดเครื่องแบบเต็มยศรองเท้าคอมแบต ซึ่งผู้หญิงแต่ละคนก็มีความอึดมาก บางทีอึดกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ

เพศสภาพโดยกำเนิดไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานของคนรัก(ษ์)ป่า

แน่นอนว่าหากพูดถึงอาชีพที่ต้องใช้ความทรหดอดทนผู้พิทักษ์ป่าก็คงเป็นอีกหนึ่งสายงานที่คนทั่วไปมักตีความว่าบุคลากรในสายอาชีพนี้ต้องเป็นเพศชายเนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและอาจเผชิญหน้ากับอันตรายได้ตลอดเวลา

แต่ ณ ปัจจุบัน เพศสภาพไม่สามารถกั้นขวางความฝันและความสุขในการประกอบอาชีพของมนุษย์ได้ สร้อยเพชรกล่าวว่า ทุกวันนี้เพศไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเรื่องศักยภาพแล้ว อย่างงานของเธอผู้หญิงก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันหรือปฏิบัติหน้าที่ภายในป่าได้เทียบเท่ากับผู้ชาย อาชีพแต่ละอาชีพมันอยู่ที่ใจเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายถ้าเกิดว่าใจเราสู้ เราก็สามารถเป็นได้ ทั้งนี้ ผู้พิทักษ์ไพรสาวยอมรับว่า แม้จะทำงานอยู่ในผืนป่ามานานแต่เธอก็ยังคงมีความกลัวอยู่บ้าง 

ถามว่ากลัวไหมเราเป็นผู้หญิงเราก็มีความกลัว อย่างเวลาลาดตระเวนตอนกลางคืน ซึ่งปรกติป่าจะเงียบและมืด แสงพระจันทร์ที่ส่องลงมาบางทีลอดกิ่งไม้หรือเถาวัลย์ เวลามีลมพัดหน่อยเราก็คิดเตลิดเปิดเปิงไปไกล วิธีแก้คือพยายามหลับตาและใช้สติในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงการพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระเครื่อง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของเราในการปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ หนึ่งข้อดีของการที่มีสุภาพสตรีอยู่ร่วมในทีมลาดตระเวนนั้น คือได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนขาดไม่ได้อย่างผ้าอนามัย

นอกจากอาวุธเสบียงและสัมภาระต่าง ๆ แล้ว ของส่วนตัวที่สำคัญของผู้หญิงที่จำเป็นต้องใช้ คือ ผ้าอนามัย ซึ่งไม่ได้พกไปเพื่อใช้ขณะเป็นประจำเดือนอย่างเดียว แต่ผ้าอนามัยถือเป็นสิ่งสำคัญในยามฉุกเฉินอย่างเช่น การห้ามเลือดซับหรือซับเลือด ซึ่งเราจะพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา

มีต้นไม้เป็นหลังคามีผืนป่าเป็นที่นอน

คนเมืองหลายต่อหลายคนมักจะตีความสัตว์ป่าเป็นสัตว์ที่ดุร้ายและมักทำร้ายคนเสมอเมื่อพบเจอ สร้อยเพชรจึงขอตอบข้อกังขาดังกล่าว โดยการยกจากประสบการณ์การทำงานในพงไพรมาพูดคุย

ความจริงแล้วสัตว์ป่าจะไม่มุ่งเข้ามาทำร้ายมนุษย์ เวลาเขาเจอคนก็มักจะเป็นฝ่ายหลบเลี่ยงโดยสัญชาตญาณ เขาจะกลัวคนมากกว่าสิ่งอื่นใด ยกเว้นสัตว์ป่าที่ป่วยหรือว่าหิวจริง ๆ ก็อาจจะเข้าหาคนบ้าง แต่สำหรับเสือยังไงก็ไม่เข้ามาหาคน  แต่ก็มีสัตว์บางชนิดอย่าง หมี กระทิง หรือช้าง

ดังนั้นในช่วงของการพักแรมมักจะหลีกเลี่ยงการตั้งแคมป์บริเวณที่เป็นด่านสัตว์หรือเส้นทางที่สัตว์ใช้สัญจร รวมไปถึงไม่พักแรมใกล้แหล่งน้ำเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะกับสัตว์ป่าบางชนิดที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะพบเจอ

อย่างที่บอกว่าสัตว์ป่าส่วนใหญ่มักกลัวคน เราก็เลยต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปเดินหรือนอนบนทางของเขา เคยมีเหมือนกันไปนอนบนที่ที่กวางเดินผ่าน ตกกลางคืนมันก็ร้องอยู่ใกล้ ๆ แต่ก็ไม่กล้าเดินผ่าน อีกทั้งการที่เราตั้งแคมป์ให้อยู่ห่างจากพื้นที่ของสัตว์ ก็เป็นการให้สัตว์ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่หรือทรัพยากรตรงนั้นด้วย

ป่าแม่วงก์เปรียบเสมือนบ้าน (ของ) สร้อย

ป่าแม่วงก์ถือเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศรวมไปถึงชนิดของสัตว์ป่าที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ซึ่งครบตามดัชนีทั้งบนบกอากาศและในน้ำ

ผู้พิทักษ์ป่าอย่างสร้อยเพชรจึงมีความผูกพันกับธรรมชาติที่อยู่รอบตัว 

ส่วนตัวชอบนกและถ้าเลือกเกิดได้เราก็อยากเป็นนกกะรางหัวหงอกซึ่งก็สามารถพบเจอได้ตามผืนป่าแม่วงก์ ทั้งแม่เรวา แม่กระสา ในเบื้องลึกก็ไม่รู้ถึงความหมายของมันเหมือนกัน แต่เราชอบการอยู่กันเป็นกลุ่มของเขา จากการสังเกตก็มีไม่ต่ำกว่า 5 ตัว

สำหรับสร้อยเพชรสิ่งที่กระทบจิตใจที่สุดคือ การทราบว่าสัตว์ป่าในพื้นที่แม่วงก์ หรือทั่วทุกแห่งในประเทศโดยล่า หรือทำร้าย ผู้พิทักษ์ไพรสาวเล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์เวลาเห็นสัตว์ป่าตาย ก็มักจะเห็นซากที่นอนลืมตาค้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจมาก

สาวนุ้ยอยู่ไกลแต่ใจไม่ลืมสะตอ

หลายปีแล้วที่สร้อยเพชรได้จากลาถิ่นแดนด้ามขวาน อันเป็นมาตุภูมิเดิมที่ถือกำเนิด แต่การมาทำงานที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกห่างไกลกับพ่อแม่เลย เนื่องจากเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลที่ย่นระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตรด้วยสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต

ยอมรับว่า คิดถึงพ่อแม่ตลอดแต่เราก็ใช้วิธีการติดต่อผ่านสมาร์ตโฟนบ้าง โทรไลน์เห็นหน้ากันบ้าง ก็เหมือนอยู่ใกล้กันนะ และหากพูดถึงปัจจุบันมันคือความสุขที่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ รวมถึงได้ทำงานที่เรารัก แม่วงก์กลายเป็นบ้านชองเราอีกหลังแล้ว

 

ติดตามเรื่องราวของผู้พิทักษ์ป่าเพิ่มเติมได้ที่ www.seub.or.th/forestranger

 


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ เกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส