หนึ่งในภาพจำใหญ่ของการเดินเท้าคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ (พ.ศ. 2556) คงปฏิเสธมิได้ว่าเสื้อยืดสีขาวแขนยาว สกรีนข้อความ STOP EHIA Maewong กลางอก ที่ ศศิน เฉลิมลาภ และคณะเดินเท้าเกือบทั้งหมดสวมใส่ตลอดการเดินทั้ง 13 วัน คือสื่อสำคัญชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นพลังการมีส่วนร่วมของสาธารณชน
แม้ต่างคนต่างมา แต่ทุกคนก็ส่งเสียงไปในทางเดียวกันว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการเขื่อนแม่วงก์ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ อันเต็มไปด้วยความแหว่งเว้าของเนื้อหา
ซึ่งหากปล่อยผ่านไปโดยไร้ซึ่งการตรวจสอบก็อาจนำไปสู่การทำลายบรรทัดฐานของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ – เครื่องมือชี้เป็นชี้ตายอนาคตทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าของชาติ
แต่ทราบหรือไม่ว่า เสื้อยืดที่มีผู้สวมใส่จนสร้างปรากฏการณ์คลื่นสีขาวกลางมหานครนั้นมีที่มาอย่างไร ?
เมื่อนึกย้อนกลับไปก็คงท้าวความได้ว่า…
เสื้อ STOP EHIA Maewong เดิมทีผลิตออกมาเพียง 100 ตัว ให้กับทีมเดินเท้าได้ใส่แสดงเป็นสัญลักษณ์
แต่โดยไม่คาดคิด ยิ่งระยะทางการเดินเพิ่มมากเท่าไหร่ จำนวนสองเท้าที่ก้าวตามก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น และมีมาพร้อมๆ กับเสียงถามไถ่ถึงเสื้อตัวที่ศศินใส่ มีขายที่ไหน ? อยากได้ต้องทำอย่างไร ? จนต้องเพิ่มจำนวนมากผลิตขึ้นตลอดช่วงการเดิน
และถึงแม้การเดินจะสิ้นสุดลงในระยะเวลา 13 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 – 12 กันยายน 2556 แต่ความต้องการเสื้อยืดลายดังกล่าวกับกลายเป็นกระแสยาวนานจนถึงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนคาบเกี่ยวต้นเดือนธันวาคม 2556
ซึ่งรวมๆ แล้วมียอดการผลิตมากกว่า 20,000 ตัว เลยทีเดียว
เสื้อยืด STOP EHIA Maewong ออกแบบโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรในเวลานั้น
เริ่มต้นจากโจทย์ที่รับมาคร่าวๆ ว่า ต้องการเสื้อที่ใส่เป็นสัญลักษณ์ของกิจกรรมการเดินเท้าคัดค้านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการเขื่อนแม่วงก์จากนครสวรรค์มาถึงกรุเทพฯ ที่ตกผลึกร่วมกันในแง่ของการใช้งานว่า เป็นการเดินริมถนนจึงต้องเป็นเสื้อสีขาวเพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะมองเห็นง่าย และต้องเป็นเสื้อแขนยาวสำหรับกันแดดได้ระดับหนึ่ง
แต่โจทย์ที่ยากกว่าการใช้งาน คือต้องออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง หรือในวันถัดไปหลังจากรับโจทย์ ลายเสื้อจะต้องเสร็จเรียบร้อยและพร้อมส่งไปผลิตเพื่อให้ทันการใช้งานที่จะไม่ขึ้นในเวลาไม่กี่วันข้างหน้า
ภายใต้เวลาที่เร่งรัด แนวคิดการออกแบบจึงเน้นการสื่อสารให้ง่ายที่สุด โดยเริ่มปรับถ้อยคำจากแนวคิดตั้งต้นอย่าง “ไม่เห็นด้วยกับการผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการเขื่อนแม่วงก์” ย่นย่อให้สั้นลง เป็นประโยคภาษาอังกฤษสั้นๆ ว่า “STOP EHIA Maewong”
เปลี่ยนจาก ‘ไม่เห็นด้วย’ เป็น ‘หยุด’ หรือปฏิเสธโดยตรง
คำว่าหยุดใช้สัญลักษณ์รูปมือที่กางออกทั้งห้านิ้ว เหมือนการกางมือส่งสัญญาณให้หยุด โดยภายในมือเป็นภาพอาณาเขตพื้นที่ป่าแม่วงก์ ใช้แทนลายมือ หรือก็คือหยุดยุ่งกับป่าแม่วงก์ผืนนี้
และอย่านำ EHIA ที่ไม่สมประกอบนี้มาเป็นข้ออ้าง
ด้วยความไม่สมประกอบและเต็มไปด้วยร่องรอยความเว้าแหว่งของเนื้อหา ฟอนต์ที่ใช้เขียนคำว่า EHIA จึงเลือกฟอนต์ที่พิมพ์ตัวอักษรได้ไม่ชัดนักเมื่อเทียบกับอักษรอื่นๆ บนเสื้อ อย่างชื่อป่าแม่วงก์ (Maewong) ในบรรทัดถัดไป เพื่อแสดงความแตกต่างและความไม่สมประกอบดังที่กล่าวไป
ระหว่างคำว่า STOP และ Maewong จะเขียนต่างกันเล็กน้อย โดย STOP ใช้ฟอนต์ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด เพื่อเน้นคำหว่าหยุด ส่วน Maewong เป็นตัวพิมพ์ใหญ่แค่อักษรตัวแรกเพื่อลดความเด่นลงมา
นอกจากรายละเอียดหลักแล้ว ลายเสื้อยังมีองค์ประกอบของคำว่า No Dam (ไม่เอาเขื่อน) ซึ่งหมายถึงไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างเขื่อนในผืนป่าอนุรักษ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และด้านหลังเสื้อเป็นการนำคำว่า “STOP EHIA Maewong” มาเปลี่ยนเป็นภาษาไทย เพื่อย้ำอีกครั้งว่าต้อง “หยุดอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์”
ดังที่กล่าวไปเบื้องต้น เนื่องจากเป็นการทำงานอย่างเร่งรีบ ทางผู้ออกแบบ ผู้ตรวจสอบ ต่างก็ไม่ทันสังเกตความผิดพลาดในการสะกดคำ จนเกิดอุบัติเหตุทางการสื่อสารแก่เสื้อ 100 ตัวแรกที่ผลิตออกมานั้น จากที่ควรเป็น “STOP EHIA Maewong” แต่กลับกลายเป็น “STOP EHIA Meawong” พิมม์ตัว a และ e สลับตำแหน่งกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วคงไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้ เมื่อกำหนดการมาถึงทีมงานจึงมองข้ามข้อผิดพลาดนี้ไปก่อน และใช้เสื้อ 100 แรกที่สะกดผิดในการทำกิจกรรมต่อไป
ระหว่างการเดินเท้าในช่วงต้นจึงมีการแซวว่า เสื้อ 100 ตัวแรกเป็นรุ่น Limited Edition ซึ่งหาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะหลังจากรับทราบถึงข้อผิดพลาด ในการผลิตตัวที่ 101 และต่อๆ มา ก็ไม่มีลายที่พิมพ์ซ้ำเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองอีกเลย
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกอย่างในการผลิต เสื้อ STOP EHIA Maewong คือ เสื้อลายนี้มีการผลิตออกมาด้วยกันทั้งหมด 2 สี
หากใครไม่ทันสังเกตอาจเข้าใจว่า เสื้อ STOP EHIA Maewong เป็นเสื้อยืดสีขาวสกรีนลายสีดำ แต่อันที่จริงยังมีเสื้อที่สกรีนสัญลักษณ์ด้วยสีเขียวเข้มเพิ่มมาอีกแบบ
ลวดลายทุกอย่างเหมือนกัน ต่างกันเพียงแค่สี
ต้นสายปลายเหตุนั้นมีที่มาจากความต้องการที่มากล้น ขณะเดียวกันก็ต้องประสบกับข้อจำกัดเรื่องเวลา ทำให้ร้านผลิตไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าที่สาธารณชนต้องการ ในขั้นตอนการผลิตต้องกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ขณะเดียวกันก็มีผู้ผลิตหลายรายอาสาเข้ามาให้ความช่วยเหลือในงานตรงนี้โดยไม่หวังผลกำไร – ต้องขอขอบคุณไปยังผู้ให้การช่วยเหลือในเวลานั้น
แต่ก็โดยไม่ตั้งใจในบางล็อตได้สั่งผลิตเป็นสีเขียว เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องการใช้สีของทางร้าน หรือพูดง่ายๆ ว่าสีดำมีไม่พอนั่นเอง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกะทันหัน ทำให้เสื้อบางตัวจึงมีสีสกรีนที่แตกต่างจากเดิม – จากดำเป็นเขียว – ซึ่งสำหรับผู้สนับสนุนก็ไม่ได้ยึดติดในรายละเอียดของสีมากนัก (และเวลานั้นก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงข้อแตกต่างอย่างชัดเจน)
ทำให้อาจกล่าวได้ว่า เสื้อ STOP EHIA Maewong จริงๆ แล้วมีด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นสีดำและสีเขียว (ไม่นับว่ามีรุ่นพิมพ์ผิดเป็น Limited Original อีกแบบ)
ภายใต้ภารกิจงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ใช้เสื้อยืดเป็นสื่อการรณรงค์และคัดค้านโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าหลายสิบกกิจกรรมนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรมาจนถึงปัจจุบัน
กนกนุช จันทร์ขำ อดีตผู้จัดการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยให้สัมภาษณ์ถึงเสื้อยืดรณรงค์ของมูลนิธิสืบฯ ในเทศกาล ‘เสื้อยืดเปลี่ยนโลก’ ว่า มูลนิธิสืบทำงานเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษณ์ทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า เสื้อยืดที่ทำมาก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะใช้รณรงค์ เช่นในการต่อต้านการสร้างเขื่อน ทางมูลนิธิก็จะทำเสื้อที่พิมพ์สโลแกนคำว่า ‘ไม่มีป่าไม่มีน้ำ’ เปรียบเทียบว่าป่าไม้เป็นที่เก็บน้ำชั่วชีวิตแต่เขื่อนเป็นที่เก็บน้ำชั่วคราว แต่หลักๆ แล้วเสื้อยืดที่มูลนิธิสืบฯ ใช้รณรงค์จะเป็นเสื้อยืดลายสัตว์ป่า ด้วยความที่เมื่อพูดถึงป่าจะเห็นภาพว่าในป่ามีสัตว์ป่า มีสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่ร่วมกัน เราจึงหยิบตรงนี้มาใช้เพื่อสื่อสารกับคนภายนอกได้รับรู้ในเรื่องการรักษาป่า ถ้าพื้นที่ป่าซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ป่าถูกทำลายไป สัตว์ป่าเหล่านี้ก็จะสูญพันธ์ไปด้วย
ในส่วนการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ นอกจากเสื้อยืด STOP EHIA Maewong ที่กล่าวถึงแล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังจัดทำเสื้อยืดที่เกี่ยวเนื่องกับงานคัดค้านโครงการดังกล่าวขึ้นมาในอีกหลายวาระ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
เสื้อแม่วงก์ กด Like No Dam
เสื้อ Tales from forest to town
เสื้อขอทางเลือกการจัดการน้ำ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์
ร่วมรักษาป่าใหญ่และสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร