ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงรู้จักชื่อโครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นอย่างดี บางท่านอาจเป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อคัดค้านโครงการจากกิจกรรมต่างๆ ที่หลายองค์กรได้จัดขึ้น บางท่านอาจเคยได้ร่วมแสดงออกผ่านการเดินเท้าร่วมกับ อ.ศศิน เฉลิมลาภ เมื่อปี 2556 บางท่านอาจเข้าใจว่า ฝ่ายพวกนักอนุรักษ์ชนะแล้ว สามารถรักษาผืนป่าแม่วงก์ไว้ได้อย่างสำเร็จลุล่วง
แต่นั่นก็เป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว…
โครงการเขื่อนแม่วงก์ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ไม่ได้ถูกเสนอขึ้นมาเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายโครงการที่ยังคาราคาซังอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอันเป็นที่รู้จักควบคู่กันมากับโครงการเขื่อนแม่วงก์
สำหรับโครงการเขื่อนแม่วงก์นั้น เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยกรมชลประทาน เพื่อใช้บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง (ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร) เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีขนาดความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 13,000 ไร่ อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร
หากท้าวความถึงที่มาของโครงการนี้ ต้องบอกกล่าวกันก่อนว่ามีมาก่อนการก่อตั้งมูลนิธิสืบฯ เสียอีก โดยโครงการเขื่อนแม่วงก์นั้นกรมชลประทานริเริ่มแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2525 แต่มาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และแผนแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสร็จในเดือนมกราคม 2534 และเดือนกุมภาพันธ์ 2537 ตามลำดับ
ในการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) มีมติให้กรมชลประทานศึกษาเพิ่มเติมโดยให้ศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอย่างบริเวณเขาชนกัน ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ด้วย เนื่องการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพบว่าที่ตั้งโครงการบริเวณเขาชนกันจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าบริเวณเขาสบกกที่อยู่ในเขตอุทยานฯ
ในส่วนของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ณ เวลานั้น ยังอยู่ในสภาพที่กำลังฟื้นตัวหลังจากการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (เมษายน 2528) เพราะเดิมเป็นพื้นที่ทำสัมปทานไม้สักและเคยมีชุมชนตั้งถิ่นฐานอาศัย พื้นที่หลายแห่งเป็นที่ราบโล่งเตียน ต้นไม้ใหญ่หลายต้นเหลือแต่ตอ เหมือนว่าไม่มีอะไรให้รักษาแล้ว แต่ด้วยความรู้ที่สั่งสมมาจากครูบาอาจารย์ของคณะวนศาสตร์หลายท่านที่ได้บอกเล่า ทำรายงาน และวิจัยเรื่องการฟื้นตัวของผืนป่า ซึ่งจะยังประโยชน์ต่อทั้งตัวของผืนป่า ต่อสัตว์ป่า และมนุษย์ในอนาคต ทำให้มูลนิธิสืบฯ ต้องทำหน้าที่รักษาผืนป่าแห่งนี้เอาไว้
และที่สำคัญไปกว่านั้น ผืนป่าแม่วงก์ยังเชื่อมต่อกับผืนป่าห้วยขาแข้ง ‘หัวใจ’ ที่สมบูรณ์ของผืนป่าตะวันตก จึงมิอาจละเลยหน้าที่นี้ได้อย่างเด็ดขาด อันเป็นเจตนารมณ์ของคุณสืบที่เขียนไว้ในรายงานนำเสนอให้ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก มีใจความว่า…
“หลักประกันในการที่จะรักษาพันธุ์ของต้นไม้ พืช และสัตว์ป่าไว้ได้จำเป็นจะต้องอาศัยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่มีความต่อเนื่อง มิใช่มีหลายแห่งแต่กระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เหมือนเกาะที่อยู่กลางสมุทรที่ขาดการเชื่อมโยงติดต่อกัน”
หลังจากคชก.มีมติให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติม กรมชลประทานก็ได้กลับไปศึกษา และส่งรายงานให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่เคยผ่านความเห็นชอบ คชก. เนื่องจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทำมายังขาดความชัดเจนในหลายๆ ประเด็น เป็นต้นว่า ขาดเนื้อหาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อนิเวศวิทยาทั้งทางตรงและทางอ้อม ขาดการประเมินต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องรวมมูลค่าระบบนิเวศวิทยาของทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ขาดการเปรียบเทียบการวิเคราะห์ ผลประโยชน์ ต้นทุนของโครงการเขื่อนทั้ง 2 แห่ง เป็นเช่นนี้อยู่ทุกๆ ครั้ง โดยเฉพาะช่วงปี 2540 – 2550
การเฝ้าติดตามโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ มูลนิธิสืบฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านมาโดยตลอด รวมถึงการนำเสนอข้อมูลต่อ คชก. สื่อมวลชน จัดกิจกรรมทำเวทีเสวนา ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เอกสาร โปสเตอร์ ไปจนถึงเสื้อยืดรณรงค์ซึ่งเหตุผลของการคัดค้านนั้นอยู่บนพื้นฐานความจริง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ นำเสนอข้อมูลอีกด้านที่ไม่ถูกพูดถึงในรายงาน อย่างเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศ ผืนป่า และสัตว์ป่า
ข้อมูลแต่ละอย่างนั้นก็ล้วนมาจากการลงไปศึกษาในพื้นที่จริง โดยตัวผู้เขียนจะไม่ค่อยมีความรู้สึกซาบซึ้งจากอ่านข้อมูลในรายงาน แต่ต้องลงไปดูในพื้นที่ให้เห็นด้วยตา จึงจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นออกมาถ่ายทอดได้อย่างสมบูรณ์
แน่นอนว่าจากการคัดค้านทำให้มูลนิธิสืบฯ ได้รับคำกล่าวหาว่า “ห่วงป่ามากกว่าคน” บ้างก็ว่า “เห็นเสือดีกว่าคน” ในระยะหลังๆ ก็มีวาทกรรมเพิ่มขึ้นมาอีกว่า “คนในมูลนิธิสืบนาคะเสถียรไม่กินข้าวใช่ไหม” เพราะเหตุผลที่อ้างว่าหากมีเขื่อนแม่วงก์ ชาวบ้านชาวนาจะมีน้ำไว้ทำนา จากเดิมทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง ก็จะเพิ่มเป็น 2 ปี ทำได้ 7 ครั้ง ซึ่งในแต่ละองค์กร หรือบุคคลนั้นก็ย่อมมีจุดยืนของตัวเอง องค์กรแต่ละองค์กรล้วนมีหน้าที่ที่ต้องทำ มูลนิธิสืบฯ มีหน้าที่อย่างหนึ่ง กรมชลประทานมีหน้าที่อย่างหนึ่ง เราก็เข้าใจทุกฝ่ายว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา
เราไม่ได้คัดค้าน แต่เรามองผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
เรื่องราวเขื่อนแม่วงก์นั้นกลับมาเป็นที่สนใจและต้องเฝ้าระวังอย่างหนักและถูกยกเป็นวาระเร่งด่วนอีกครั้งในเดือนเมษายน 2555 หนึ่งปีหลังเหตุอุทกภัยใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางของไทย เมื่อคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยงบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง และเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่างานคัดค้านเขื่อนแม่วงก์หนนี้กระแสสังคมได้ให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก สาธารณชนมีความตื่นตัวและแสดงออกถึงการปกป้องผืนป่ากันอย่างชัดเจน ต่างจากยุคสมัยก่อนที่ส่วนใหญ่จะรู้กันในเพียงแวดวงคนทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เครือข่ายองค์กร หรือชมรมอนุรักษ์ และสื่อมวลชนเพียงเท่านั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการแสดงพลังคัดค้านเขื่อนน้ำโจนในอดีต อันเป็นรากฐานสำคัญของการแสดงพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
ผู้เขียนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้น่าจะมาจากการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่สามารถกระจายข่าวสารได้ว่องไว กับความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเรื่องความสัมพันธ์ของนิเวศป่าไม้ต่อสังคมเมืองมีมากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะปกป้องรักษาผืนป่าแห่งนี้ตามมา
หลักฐานเชิงประจักษ์ เห็นได้จากทุกครั้งที่มูลนิธิสืบฯ จัดกิจกรรม จะมีสาธารณชนเข้ามาร่วมแสดงออกเป็นจำนวนมาก ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูลการคัดค้านออกไปจนฝ่ายสื่อสารตามนับกันไม่หวาดไม่ไหว สื่อรณรงค์ต่างๆ ทั้งโปสเตอร์หรือสติ๊กเกอร์ก็มีผู้สนใจขอรับไปติดตามสถานที่ต่างๆ อย่างที่ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอต่อความต้องการ นั่นยังไม่รวมถึงเสื้อยืดคัดค้านลวดลายต่างๆ ที่จัดทำออกมารณรงค์ก็ขายดิบขายดีและหมดลงอย่างรวดเร็ว การลงชื่อในช่องทางต่างๆ ก็ล้วนแต่ได้รับการตอบสนองที่ดีกว่าการทำงานในอดีต
การดำเนินการคัดค้านช่วงนั้น มูลนิธิสืบฯ ได้ทำกิจกรรมหลายด้าน พร้อมทั้งได้เชิญองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายองค์กรมาร่วมกันทำงานในลักษณะของเครือข่าย ร่วมกันแชร์ข้อมูลสำคัญ แบ่งบทบาทการทำงานในแต่ละประเด็นเนื้อหาและการเคลื่อนไหว รวมถึงร่วมกันออกหนังสือคัดค้านส่งถึงผู้มีอำนาจการตัดสินใจ
องค์กรที่เข้าร่วมทำงาน อาทิ มูลนิธิโลกสีเขียว สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล (WCS) ประเทศไทย กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มูลนิธิคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง มูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร ฯลฯ
มีกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม Siamensis กลุ่ม Big Tree กลุ่มศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอุทัยธานี กลุ่ม Ok nature ยังไม่นับรวมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย และนักวิชาการอีกหลากหลายแห่งที่มาร่วมในสถานะส่วนตัว และอีกหลายๆ กลุ่มที่เข้ามาทำงานร่วมกัน หรือแยกตัวทำงานเฉพาะของตัวเอง ซึ่งไม่ว่าจะทำงานในรูปแบบไหน ทุกคน ทุกกลุ่มต่างล้วนมีเป้าหมายในการรักษาผืนป่าแม่วงก์ด้วยความศรัทธามั่นด้วยกันทั้งสิ้น ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้กล่าวขอบคุณย้อนหลังอีกครั้งด้วยความประทับใจยิ่ง
ด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย ทำให้เรามีข้อมูลที่หลากหลายและน่าเชื่อถือเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการคัดค้าน ขอรวบรวมมาบอกเล่าไว้ ณ ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง
ประการแรก การสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นการทำลายระบบนิเวศของผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญคือลำน้ำแม่วงก์ หรือห้วยแม่เรวา ซึ่งเป็นลำน้ำที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ นอกจากนี้ลำน้ำแม่วงก์ยังคงมีคุณภาพและปริมาณน้ำที่หล่อเลี้ยงพื้นที่กสิกรรมบริเวณชุมชนในอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ อย่างต่อเนื่องตลอดปี และไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำเจ้าพระยา ในด้านสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ปัจจุบัน เป็นพื้นที่สำคัญ ในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก ประชากรเสือโคร่งทั้งโลกเหลืออยู่เพียงไม่เกิน 3,200 ตัว ส่วนในประเทศไทย เหลือเสือโคร่งไม่เกิน 250 ตัว และส่วนใหญ่อยู่ในผืนป่าตะวันตก ซึ่งรวมถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่เสือโคร่งกระจายตัวมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นอกจากนี้ สัตว์ป่าที่สำคัญในป่าแห่งนี้อีกชนิดหนึ่งคือ นกยูงไทย ซึ่งจากการฟื้นฟูประชากรนกยูงไทยซึ่งมีสถานภาพถูกคุกคาม และไม่มั่นคงในระดับโลก ที่ผ่านมาในผืนป่าแม่วงก์ ทำให้ปัจจุบันนกยูงไทยในป่าแห่งนี้กำลังได้รับการฟื้นฟูกระจายพันธุ์กลับคืนสู่บริเวณลานนกยูง ริมลำน้ำแม่วงก์ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติ
ประการที่สอง เขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง เพราะจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ในเขตพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วม ได้แก่ อำเภอแม่วงก์ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเท โดยเฉพาะในเขตอำเภอลาดยาว เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำจากพื้นที่ ทั้งทางตอนบนจากจังหวัดกำแพงเพชร ทางตะวันออกจากอำเภอบรรพตพิสัย และอำเภอเก้าเลี้ยว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากอำเภอแม่วงก์ และทางทิศตะวันตกจากอำเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบง ลักษณะทางธรณีวิทยาเช่นนี้เป็นลักษณะทางธรรมชาติ ของพื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมของลำน้ำอีกหลายสายไหลมาบรรจบกันกับน้ำแม่วงก์ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่บริเวณลุ่มต่ำ โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงสามารถกักเก็บน้ำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
และประการที่สาม รัฐบาลควรพิจารณาข้อมูลจากการจัดทำรายงานผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานรับผิดชอบและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้นมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 10 เมษายน 2555 ที่ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งที่ดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ จึงเป็นมติที่ไม่ชอบต่อกฎหมาย
ซึ่งในข้อสุดท้ายนี้เอง อันเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การเดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร จากที่ทำการแม่เรวามาสู่กรุงเทพฯ ของ อ.ศศิน เฉลิมลาภ
พ.ศ. 2556 รัฐบาลได้ดึงเอาโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ไปบรรจุไว้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ได้อนุมัติอนุญาตให้ดำเนินการ แต่เมื่อดูในรายละเอียด ณ เวลานั้น รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการเขื่อนแม่วงก์ยังไม่แล้วเสร็จ แต่รัฐบาลได้การอนุมัติอนุญาตโครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าไปเสียแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของไอ้พวกนักอนุรักษ์ต้องออกมาส่งเสียงคำราม
อ.ศศิน เฉลิมลาภ เวลานั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการเป็นกำลังหลักในการวางยุทธศาสตร์การทำงานเรื่องการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ได้ออกความเห็นว่า สถานการณ์ของเขื่อนแม่วงก์คงไม่อาจประท้วงได้ด้วยวิธีเดิม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธี อ.ศศิน จึงเสนอจะพาตัวเองเดินประท้วงเพื่อให้เกิดความสนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
แผนที่วางไว้ในเบื้องต้น เธอตั้งใจจะเดินจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แต่วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ กรรมการมูลนิธิสืบฯ (เพื่อนสนิทของคุณสืบ) เห็นแย้งและเสนอให้เดินจากแม่วงก์มากรุงเทพฯ จะเป็นการดีกว่า เพราะการเดินจากกรุงเทพฯ ไปแม่วงก์นั้นพลันแต่จะทำให้เสียงค่อยๆ เงียบหาย หากแต่เดินจากแม่วงก์มากรุงเทพฯ แล้วค่อยๆ สะสมกำลังมาจะเป็นการดีกว่า
เรื่องที่หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าการเดินเท้าของ อ.ศศิน เป็นการประท้วงรัฐบาลและโครงการเขื่อนแม่วงก์ แต่ที่จริงเป็นการเดินเท้าเพื่อคัดค้านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าวที่ยังบกพร่อง เพราะถูกคณะกรรมการผู้ชำนาญตีกลับให้ไปทำใหม่ แต่กลับเร่งรัดให้ผ่านร่วมไปกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
ในความเห็นของเครือข่ายที่ร่วมกันคัดค้านต่างเห็นตรงกันว่า มันคือการทำลายมาตรฐานการทำ EHIA อย่างสิ้นซาก และจำเป็นต้องทักท้วงอย่างถึงที่สุด
การเดินเท้าคัดค้านเริ่มต้นในเช้าตรู่ของวันที่ 10 กันยายน 2556 จากบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือจุดที่จะเป็นพื้นที่สร้างเขื่อน ผู้เขียนไม่ได้ไปร่วมเดินในวันแรก แต่ได้รับฟังคำบอกเล่าจากน้องๆ ทีมงานเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ ว่าในเช้ามืดวันนั้นมีฝนตกลงมาให้พอชุ่มฉ่ำ ก่อนออกเดินก็ได้ไหว้ศาลเจ้าแม่เรวากันก่อน อ.ศศิน เล่าว่าได้ขอพรให้ดวงวิญญาณพี่สืบ พ่อปู่ฤาษีทุ่งใหญ่ที่เคารพ และแม่เรวา ช่วยดลบันดาลใจให้ผู้ที่ต้องการเขื่อนเปลี่ยนใจ
วันแรกของการเดินมีสมาชิกเพียงไม่กี่คน จะมีแต่เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ กับเครือข่ายในพื้นที่ บันทึกไว้ว่าวันแรกเริ่มเดินจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวากันแค่ 6 คน และค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้น ตามจำนวนวัน เและระยะทาง
การเดินเท้าคัดค้าน EHIA หนนี้ หากมองกันผิวเผินดูจะไม่มีอะไรยาก แต่ในสถานการณ์จริงเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองท้องถิ่นเมื่อต้องเดินผ่านพื้นที่ที่สนับสนุนโครงการ สภาพดินฟ้าอากาศที่มีทั้งร้อนและฝน การประสานงานต่างๆ ที่มีทั้งราบรื่นและทุลักทุเล แต่ก็ผ่านกันมาได้ด้วยความตั้งมั่นและทุ่มเทที่จะรักษาพื้นที่ป่า แม่วงก์ และมาตรฐานของการทำ EHIA
ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมเดินเท้าในบางช่วงเป็นระยะทางสั้นๆ เป็นช่วงที่เริ่มมีสาธารณชนตามมาสมทบในหลักร้อยแล้ว จึงได้เห็นพลังของงานอนุรักษ์จากหลากหลายที่มาแต่พร้อมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะนักเรียน นักศึกษาที่มีพลังหนุ่มสาวเป็นแรงเคลื่อนเครือข่ายสิ่งแวดล้อมจากแดนไกลที่เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจ เด็กตัวเล็กตัวน้อยที่มากับพ่อแม่ คนสูงอายุที่รุ่นราวใกล้เคียงผู้เขียน บางคนร่างกายเจ็บป่วยต้องอาศัยไม้เท้า นั่งรถวีลแชร์ก็ยังมาร่วมเป็นกำลังใจ เพื่อนพ้องน้องพี่นักวิชาการ องค์กรอนุรักษ์ และสื่อมวลชนที่บางท่านถอดหัวโขนหน้าที่การงานมาร่วมเดิน
ทั้งหมดล้วนเป็นภาพที่น่าประทับใจ บางท่านที่ไม่ได้ร่วมเดินก็อาศัยแวะมาทักทายระหว่างทาง มอบสิ่งของจำเป็น เช่น เสบียง หยูกยาแก้อาการเจ็บป่วย ภาพเช่นนี้ปรากฎฉายวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสถานที่ต่างๆ จนถึงวันสุดท้ายยังจุดนัดพบที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (วันที่ 22 กันยายน 2556)
เหนือสิ่งอื่นใดขอกล่าวความประทับใจ ต่อความมุ่งมั่นของ อ.ศศิน ที่นอกจากจะเดินตลอดระยะทางแล้วยังทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารองค์กร บอกเล่าเรื่องราวรายทางบนเฟสบุ๊คตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และชื่นชมในความพยายามของทีมงานน้องๆ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ ที่แม้จะเหนื่อยแค่ไหนแต่ต่างเก็บความท้อไว้ข้างหลังแล้วดึงความตั้งมั่นมาไว้ข้างหน้า
ซึ่งความดีงามของเหตุการณ์เดินเท้าคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ก็จุดประกายให้สาธารณชนได้หันมาเหลียวมองการทำงานของไอ้พวกนักอนุรักษ์ และกลายเป็นแนวร่วมสำคัญในการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์มาจนถึงทุกวันนี้
ผลของการเดินเท้าของอ.ศศิน ทำให้เวลานั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาข้อมูลโครงการการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้าน และผู้แทนจากองค์กรอนุรักษ์เข้าร่วมเป็นตัวแทน แต่ในขณะนั้นได้เกิดวิกฤตทางการเมือง มีการรวมตัวของประชาชนเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ทำให้ข่าวสารเรื่องเขื่อนแม่วงก์ไม่ถูกพูดถึงมากนัก ประกอบกับหลายคนคิดว่าคัดค้านสำเร็จแล้ว โครงการถูกยกเลิกไปแล้ว ความสนใจก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่นๆ แทน
กระทั่งกลางปี 2557 รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารยึดอำนาจ มีการประกาศกฎอัยการศึก ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ บรรยากาศบ้านเมืองและผู้คนต่างให้ความสนใจกับทิศทางประเทศว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรหลังเกิดรัฐประหาร กิจกรรมหลายๆ อย่างดูจะชะงักไปจากผลพวงนี้ แต่งานรักษา ผืนป่าและสัตว์ป่าของมูลนิธิสืบฯ ยังคงดำเนินต่อเนื่องไม่มีวันหยุด
มูลนิธิสืบฯ ได้ขยับบทบาทการทำงานจากการคัดค้านมาทำงานวิชาการในพื้นที่ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์มากยิ่งขึ้น เพื่อหาทางออก อื่นๆ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง จนเกิดเป็นรายงาน ‘ขอทางเลือกจัดการน้ำไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์’ นำเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2557 มีข่าวว่า ทางสผ. เตรียมจัดประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านแหล่งน้ำ เพื่อพิจารณารายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ และเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ท่ามกลางคำทักท้วงที่ว่า EHIA ยังมีข้อบกพร่อง ความไม่ทันสมัยของข้อมูล และไม่สามารถตอบประเด็นข้อสงสัยในเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้
มูลนิธิสืบฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอถึง คสช. ขอเสนอให้ประเทศไทยมี ‘การปฏิรูประบบการพิจารณารายงาน EHIA และ EIA’ และได้นำไปสู่อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ คือ อ.ศศิน อาสานำตัวเองไปนั่งปักหลักให้กำลังใจ คชก. ในช่วงที่มีการประชุม EHIA ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้า สผ. เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2557
เวลานั้นบรรยากาศบ้านเมืองยังอยู่ในช่วงที่ คสช. ประกาศใช้คำสั่งที่ ๗/๒๕๕๗ ห้ามชุมนุมทางการเมืองหรือมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ อ.ศศิน เธอบอกว่าจะไปปักหลักนั่งอยู่คนเดียว และไม่ใช่การมาประท้วง แต่มาให้กำลังใจคชก. เพื่อให้มีการพิจารณารายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์อย่างรอบคอบที่สุด และคำนึงถึงทางเลือกในการจัดการน้ำ ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนในป่าแม่วงก์ ถ้าหากจะมีใครมาร่วมกิจกรรมนี้ ก็ขอเสียว่าให้มาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจกันแทน
แน่นอนว่าตลอดทั้ง 3 วัน มีสาธารณชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสื่อมวลชนแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน และนำเสนอเรื่องราวการทำหน้าที่ถ่วงดุลการพัฒนาที่จะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกมามากมาย ถึงจะไม่มากเท่าครั้งเดินเท้าคัดค้าน EHIA แต่ก็ได้รับขวัญกำลังใจที่ดี เป็นพลังให้คนทำงานได้มีแรงต่อสู้และไม่รู้สึกเดียวดาย
ระหว่างที่ อ.ศศิน นั่งให้กำลังใจ คชก. ก็มีข่าวน่ายินดีส่งมาถึงการประชุม เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าของพื้นที่ ได้ออกหนังสือข้อมูลและความเห็นโครงการเขื่อนแม่วงก์ถึง สผ. ว่า ไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ควรดำเนินจัดทำแนวทางเลือกในการจัดการแนวทางอื่น ที่ไม่ต้องสูญเสียพื้นที่ขนาดใหญ่ในพื้นที่อนุรักษ์และให้ความคุ้มค่าในการจัดการน้ำมากกว่า
การนั่งให้กำลังใจคชก. ผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีปัญหากับฝ่ายบ้านเมืองที่แวะเวียนมาสังเกตการอยู่เป็นระยะ ส่วนการประชุมคชก. ก็ไม่มีมติในการอนุญาตใดๆ นับเป็นอีกครั้งที่ไอ้พวกนักอนุรักษ์ต้องทำงานข้ามวันข้ามคืนเพื่อปกป้องผืนป่า
อย่างไรก็ตามงานอนุรักษ์เป็นงานที่ทำไม่เสร็จและยังคงต้องทำต่อไปเรื่อยๆ รายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ยังถูกเสนอเข้าประชุมหลังจากนี้อีกหลายครั้ง คนทำงานก็ยังคงทำหน้าที่ยับยั้งด้วยวิธีต่างๆ เช่น การลงพื้นที่ศึกษาเส้นทางน้ำแม่วงก์เพื่อหาข้อเท็จจริงของปัญหาที่จะนำไปสู่คำตอบในการแก้ไข ตลอดจนการร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นพัฒนารูปแบบการจัดการน้ำทางเลือกร่วมกันจนมาถึงปัจจุบัน
กว่า 20 ปี ที่คัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ แม้จะเผชิญกับอุปสรรคหนักหนา แต่อย่างน้อยที่สุดการถ่วงดุลนั้นก็ช่วยให้ผืนป่าแม่วงก์ได้รับโอกาสฟื้นฟูตัวเองจนกลับมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ผู้เขียนโชคดีมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมผืนป่าแห่งนี้หลายต่อครั้งนับตั้งแต่วันที่ถูกเรียกว่าป่าเสื่อมโทรมจนถึงวันที่ป่ากลับมาสมบูรณ์ ทั้งเคยดูจากภายนอกและเดินเท้าเข้าไปนอนค้างอ้างแรมในบริเวณที่จะถูกน้ำท่วม หาก EHIA ผ่านความเห็นชอบ
จากอดีตที่เคยเป็นไร่ซากมาวันนี้ผืนป่าแม่วงก์เป็นอย่างไร ขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือเขื่อนแม่วงก์ทำลายป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างไร จัดทำโดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society- WCS) ที่คัดมาสั้นๆ ดังนี้
ต้นสักหลายต้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่ผ่านการทำสัมปทานไม้เมื่อครั้งอดีตได้มีการงอกให้คลุมต้นเดิมจนเติบโตมีขนาดใหญ่ชี้ให้เห็นสภาพป่าที่กำลังฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังจากการได้รับการอนุรักษ์มาเกือบ 30 ปี กวางป่าที่เคยถูกล่าจากพื้นที่จนเกือบสูญพันธุ์ก็ได้ฟื้นฟูจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น สามารถพบเห็นตัวได้บ่อยมีร่องรอยทั้งรอยตีนและรอยเล็มหญ้าให้เห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่ราบริมน้ำแม่เรวาซึ่งเป็นแหล่งหากินและอาศัยที่สำคัญ
แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของกวางนั้นมีผลต่อสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง การอนุรักษ์กวางป่าจึงเป็นอีกทางของการอนุรักษ์เสือโคร่งที่กำลังกระจายตัวจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาสู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งร่องรอยและภาพจากกล้องดักถ่าย
ความสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์นั้นยังสามารถชี้วัดได้จากนาก นากเป็นสัตว์ป่าที่บ่งชี้คุณภาพของลำน้ำ เพราะนากจะอาศัยอยู่ในลำน้ำที่สะอาดเท่านั้น ลำน้ำแม่วงก์โดยเฉพาะบริเวณแม่เรวา ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและสำคัญของการเป็นพื้นที่อาศัยของนากและสัตว์น้ำหลายชนิด การปรากฏของนากในพื้นที่ชี้ให้เห็นถึงความชุกชุมของปลาที่เป็นอาหารของนากและความบริบูรณ์ของระบบนิเวศในลำนำแม่วงก์
ที่ว่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และชะลอการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่าที่หลายฝ่ายช่วยกันทำงาน นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและคงสืบต่อเนื่องถึงอนาคต
ทั้งหมดที่กล่าวมาก็อาจเรียกว่ามันเป็นมหากาพย์งานอนุรักษ์ของมูลนิธิสืบฯ ซึ่งผู้เขียนพยายามรวบรัดให้เห็นถึงภาพรวมสำคัญในบางบทบางตอน เพราะดังที่ได้เท้าความไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์นั้นมีมาก่อนการตั้งมูลนิธิสืบฯ เสียอีก
ครั้งหนึ่งน้องๆ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยถามผู้เขียนว่า เคยคิดไหมว่าจะต้องคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์กันยาวนานขนาดนี้ ผู้เขียนได้ตอบไปว่า
เมื่อมีสิ่งที่ต้องทำ เราก็ต้องทำ ไม่ได้เป็นห่วงว่าจะทำไม่เสร็จ หรือต้องทำซ้ำไปซ้ำมาหลายหนเราถือว่ามันเป็นหน้าที่โดยจริยธรรมของคนที่ทำงานทางด้านนี้
ก็อยากฝากถึงคนรุ่นต่อไป จนถึงผู้อ่านทุกท่านให้ช่วยกันดูแลผืนป่าและสัตว์ป่าไว้ให้คงอยู่ต่อไปตราบนานที่สุด
บทความ เรื่อง มหากาพย์ เขื่อนแม่วงก์ เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือ บนนถนนงานอนุรักษ์ เขียนโดย รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดพิมพ์ในวาระ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม กันยายน 2566
ร่วมรักษาป่าใหญ่และสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
พร้อมที่จะทำงานในมูลนิธิสืบนาคะเสถียรโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานเจตนาของคุณสืบ ผู้เสียสละได้แม้ชีวิตของตน เพื่อชีวิตของสัตว์ป่าและป่า และเพื่อสนองคุณแด่ทุกพระองค์และทุกท่านที่มีศรัทธาต่อคุณสืบ ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำ ร่วมทำงาน รวมถึงบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อให้ได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง ในการสืบสานเจตนาของคุณสืบ นาคะเสถียร ไปนานเท่านาน