บางทีเราก็ไม่สามารถคาดเดาผลของการกระทําใดๆ ได้มากนักตอนเริ่มทํางาน หวังว่าครึ่งหนึ่งเป็นผลจากการวางแผนบริหารจัดการและกระบวนการทํางาน และอีกครึ่งหนึ่งย่อมต้องฝากไว้กับฟ้าดิน
ผมอธิบายผู้คนเสมอว่าการเดิน 13 วันจากจุดจะสร้างเขื่อนแม่วงก์มาถึงกรุงเทพฯ ของผมถือเป็นการทํางานในระดับ ‘แลกด้วยชีวิต’ ทั้งมุมมองทางกายภาพ ร่างกาย จิตใจ รวมถึงมุมมองทางจิตวิญญาณ
เพราะการประกาศเดินในระยะทางร่วม 388 กิโลเมตร ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติวิสัยของใครๆ ที่จะทําง่ายๆ ในวันที่ร่างกายพาชีวิตเลยวัยหนุ่มมาหลายปี ร่างกายที่ไม่ได้ดูแลตรวจตรา จนน้ำหนักและคุณภาพกล้ามเนื้อ ข้อต่อกระดูก ล้วนไม่น่าไว้วางใจสําหรับต้นทุนในการเดิมพัน
มิหนําซ้ำยิ่งมิต้องพูดถึงการเตรียมตัวในเรื่องการออกกําลังกายใดๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีข้อรับประกันของความเจ็บป่วยบาดเจ็บรุนแรงในการใช้ร่างกายอย่างหักโหมใน 13 วัน
สําหรับในอีกมุมมองหนึ่งการประกาศท้าทายเช่นนั้นย่อมต้องส่งผลถึงการเลิกร้างรามือออกจากสังคมหรือภารกิจที่ทําอยู่หากทําไม่สําเร็จ เนื่องจากไม่เหลือเกียรติภูมิใดๆ ที่บอกถึงความตั้งใจที่ล้มเหลว
นั่นคือความหมายของการแลกด้วยชีวิต ในการเดิมพันด้วย ‘สองเท้า’ กับเวลา 13 วัน บนถนนที่เราขับรถถึงได้ใน 4-5 ชั่วโมงสบายๆ
โอกาสรอดชีวิตทั้งสองมิติของผมในส่วนตัวมาจากประสบการณ์ที่เดินเท้าทางไกลมาพอสมควรสมัยเป็นนักเรียนธรณีวิทยา ท่องเที่ยวเดินป่าอยู่บ้างตอนหนุ่มๆ รวมทั้งการเดินระหว่างชุมชนในการทํางานในป่าตะวันตกโดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร แต่นั่นก็เป็นเรื่องเมื่อนานมาพอสมควร แต่กระนั้นก็เทียบไม่ได้กับความไกลและความต่อเนื่องที่ต้องเดินทุกวันไม่มีวันพัก ส่วนที่เหลือก็มาจาก ‘ใจ’ ล้วนๆ โดยฝากความหวังในการผ่านพ้น อุปสรรคการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุระหว่างทางไว้กับฟ้าดิน
หลังจากศึกษาเส้นทางจากแผนที่ถนนหลวง ผมคํานวณตามมาตราส่วนโดยประมาณได้ 388 กิโลเมตร จากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา ผ่านอําเภอแม่วงก์-ลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ อําเภอสว่างอารมณ์ ทัพทัน เมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เข้าสู่อําเภอ มโนรมย์-สรรพยา จังหวัดชัยนาท อําเภออินทร์บุรี-เมืองสิงห์บุรี- พรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อําเภอไชโย-เมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง อําเภอมหาราช-บางปะหัน-นครหลวง-อุทัย พระนครศรีอยุธยา-บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อําเภอคลองหลวง-เมือง ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ก่อนเข้าดอนเมือง หลักสี่ บางเขน ลาดพร้าว จตุจักร สะพานควาย พญาไท จนถึงสี่แยกปทุมวัน รวม 8 จังหวัด (ความจริงแล้วต้องรวมท่าวุ้ง ลพบุรี ที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวมาในสิงห์บุรีด้วยนิดหน่อย)
แผนการเดินทางก็ถูกจัดการโดยทีมงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่วุ่นวายกับการสํารวจเส้นทาง ติดต่อที่พักที่หมายตาคร่าวๆ รวมถึงคํานวณระยะเดินที่เป็นไปได้ในแต่ละวัน
แบ่งเป็นทีมเตรียมการรวมถึงการประสานงานกับสื่อมวลชนและวิทยากรที่คาดว่าจะมาช่วยขยายผลการเดินประท้วงผ่านการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือที่ภายหลังมีผู้คนรู้จักกันกว้างขวางในชื่อรายงาน EHIA (Environmental and Health Impact Assesment) ซึ่งพวกเรารู้กันว่าเป็นต้นทางทั้งมวลของการตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนของรัฐบาล
นั่นเป็นที่มาของข้อตกลงของเราว่า พี่ศศินเป็นตีนเดินไป พวกเขา น้องๆ ทีมผมจะเป็นสมอง รับผิดชอบพาพี่เดินไปถึงกรุงเทพฯ เอง ดังนั้น หน้าที่ของผมคือ ‘เดินให้ถึง’
เยี่ยม ผู้บริหารหนุ่มของธนาคารใหญ่ที่นครสวรรค์ ลูกศิษย์สมัยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ขับรถฝ่าความมืดมาจากเมืองนครสวรรค์มาพบกับผมเพื่อให้กําลังใจ มาเจอกับผมพอดีที่ทางเข้าวัดธารมะยม ที่เรานัดหมายมาพักแรมก่อนการเดินในค่ำคืนที่ 9 กันยายน หลังจากที่ผมทํากิจกรรมการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบการผ่านรายงานดังกล่าวเมื่อช่วงเช้า
นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มของภาพนิมิตการเดินทาง แน่นอนว่ารูปถ่ายของเขาที่สนับสนุนซื้อเสื้อยืดรณรงค์ และเงินทุนสำหรับการเดินทางกับผมและทีมงานถูกส่งผ่านเฟซบุ๊กบนเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ของเขา ประกาศการสนับสนุนการเดินทางอย่างเป็นทางการให้กับสังคมออนไลน์ในช่วงหัวค่ำ โดยไม่มีใครคาดว่าจะมีการบันทึกการแสดงเจตนาให้การสนับสนุนพวกเราในการเดินครั้งนี้ตามมาบนโลกโซเชียลมีเดียอีกนับร้อยนับพันภาพ
ค่ำคืนแรกของการเตรียมตัว พวกเราตั้งแคมป์และนั่งล้อมวงประชุมกันอยู่ในบ้านมิตรของเรา อดีตครูนักเที่ยวป่า ผู้รอบรู้เรื่องผืนป่าแม่วงก์ในอดีต
อดีตพรานป่าเริ่มแนะนําพวกเราถึงเทคนิคและระยะทางในการเดินทางไกล การหยุดพัก อาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่บรรจุมาพร้อมคําแนะนํานั้นคือกําลังใจที่ล้นเหลือ รวมถึงการแสดงออกถึงเจตนาสนับสนุนการเดินทางของเราอย่างเต็มที่ และมีความหวังที่จะหยุดโครงการเขื่อนในป่าที่แกรัก
การอนุเคราะห์ที่พักข้าวปลาอาหารจากมิตร บรรจุพลังงานที่มองไม่เห็นมาเต็มๆ ในหัวใจของทีมงาน ก่อนที่จะแยกย้ายไปเข้านอนตามเต็นท์ และเปลพักของแต่ละคนในเวลาใกล้เที่ยงคืน หลังจากนัดหมายเวลาตื่นนอนที่ตี 4 และขับรถออกเดินทางไปแม่เรวาตอนตี 4 ครึ่ง เพื่อให้เริ่มเดินได้เวลาฟ้าสาง
ฝนต้นเดือนกันยายนทําหน้าที่ปลุกพวกเราที่นอนกันไปราว 2 ชั่วโมงให้ตื่นขึ้นเก็บเปล เก็บเต็นท์ ส่วนใหญ่ล้มเลิกการนอน และเตรียมเก็บของเดินทาง ทําให้ไม่มีใครต้องปลุกใคร
ตอนตี 4 ขบวนรถขับตามกันขึ้นทางทิศเหนือ ผ่านปรอยฝนตลอดทางก่อนเลี้ยวเข้ากิ่วเขาที่ห้วยแม่วงก์ไหลผ่านออกมาบนภูมิประเทศที่เทือกเขายาวเหยียด 2 ลูกมาบรรจบกัน จนเป็นที่มาของชื่อ ตำบลเขาชนกัน
ถนนจากเขาชนกันก่อนเข้าชุมชนตลิ่งสูง ผ่านย่านที่คนนําเศษซากศาลพระภูมิมากองเรียงทิ้งไว้โดยผมก็ไม่ทราบที่มา ตลอดระยะเวลาที่ทํางานเรื่องค้านเขื่อนแม่วงก์ ผมผ่านบริเวณนี้หลายครั้ง รู้สึกถึงอาถรรพ์ของป่าโบราณ คล้ายกับเป็นประตูแห่งวิญญาณที่จะเข้าสู่อีกอาณาจักรหนึ่ง
เช้ามืดที่ผมผ่านทางเพื่อเริ่มเดินทาง ผมบีบแตรรถยาว 3 ครั้งเพื่อขอผ่านทางเข้าป่า และขออนุญาตเจ้าป่า เจ้าเขา และวิญญาณต่างๆ ในการเดินครั้งนี้
พี่ดอน เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าเพื่อนของผมคอยอยู่แล้วที่ด่านทางเข้า พวกเราล้วนเป็นความหวังของพวกเขาที่จะรักษาป่าที่พวกเขา ‘นักอนุรักษ์ตัวจริง’ ช่วยกันดูแลอย่างเป็นทางการมานาน 20 กว่าปีให้รอดพ้นจากเขื่อน
พี่ดอนพาผมไปไหว้ศาลเจ้าแม่เรวา ก่อนการเดินทางผมยังจำคำพูดสั้นๆ ของพี่ดอนที่อวยพรให้ผมส่งพลังใจผ่านอุ้งมือหยาบกร้านที่บอกว่า “ขอให้ชนะ”
นี่เป็นคําอวยพรที่คําอวยพรของแม่ตอนไปล่ำลาเมื่อหลายวันว่า “ไม่แพ้”
กลิ่นธูปฟุ้งไปกลางฝนปรอย ระหว่างที่ผมจุดธูปไหว้ขอพลังจากฤๅษีแห่งทุ่งใหญ่นเรศวรทางทิศตะวันตก และดวงวิญญาณของพี่สืบ นาคะเสถียร ก่อนขอขมาพระแม่ธรณีก่อนปักธูปลงบนแผ่นดินบนเนินเขาข้างห้วยแม่เรวา เพื่อเป็นกําลังใจบนเส้นทางยุทธ์
คณะเดินทางประกอบด้วยผมและน้องๆ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ 3-4 คน และอาจารย์ณรงค์ แรงกสิกร นักอนุรักษ์แห่งป่าแม่วงก์ที่อาสาเดินไปส่งให้พ้นเขตนครสวรรค์ ผมพร้อมแล้ว!
ก้าวแรกของผมเริ่มต้นขึ้นที่หน่วยแม่เรวา เมื่อตอนฟ้าสางของวันที่ 10 กันยายน 2556 ผ่านเวลา 13 วันอันน่ามหัศจรรย์ไปถึงกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ
ร่วมรักษาป่าใหญ่และสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร