กาแฟร้อนๆ ของทีมงาน และอาหารกล่องมื้อเช้าจัดเตรียมไว้ที่วัดตลิ่งสูง รอผมและทีมเดินทีมแรกมาพัก ผมสังเกตการณ์แบ่งงานของทีมงานเราเอง ที่หายไปหลายคนรู้ว่าเขาคงล่วงหน้าไปดูสภาพข้างหน้าแล้ว
สองชั่วโมงแรกของการเดินทาง ผมทำได้ตามประมาณการมาตรฐานการเดินอย่างที่รู้มาตอนเรียนรด. นั่นคือ ประมาณชั่วโมงละ 4 กิโลเมตรโดยไม่ได้หยุดพักกลางทาง เดินมาสองชั่วโมงครึ่งนี่ก็ได้ถึงสิบกว่ากิโลเมตรแล้ว ค่อนข้างจะเร็วกว่าที่คิดไว้มากด้วยซ้ำ แน่นอนว่าผมแอบภูมิใจอยู่ลึกๆ ที่อายุ น้ำหนักและความเรื้อสนามการเดินไม่เป็นอุปสรรค แต่อย่างไรก็ดีหน้าขาที่เริ่มเมื่อยและเจ็บ เป็นอาการที่ผมไม่ได้บอกใคร
มื้อเช้าแรกของการเดินทางผมพบเด็กหนุ่มสามคนมารออยู่ คนที่ดูเป็นผู้นำหน้าตาคุ้นเคย
“ผมโร๊ะครับ ชมรมอนุรักษ์ มศว.”
ผู้นำขบวนแนะนำตัว ผมจำเขาได้ทันที เราเจอกันมาหลายครั้งในงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ของชมรมนี้ที่ผมเป็นวิทยากรให้เป็นประจำ แต่ก็ไม่นึกว่าศิษย์เก่าชมรมผู้นี้ซึ่งมีท่าทีเป็นหนุ่มเมืองอย่างเขาจะโบกรถมาพร้อมกับบัณฑิตหนุ่มอีกสองคน ชื่อ ‘ทศ’ และ ‘ป้อง’
นริศ บ้านเนิน หัวหน้าภาคสนามรุ่นใหญ่ประจำพื้นที่กาญจนบุรีของเรานำขบวนมาก่อนแต่เช้า และหยิบวิทยุสื่อสารขึ้นมาทำงานสื่อสารกับอำนาจที่ขับรถขึ้นไปเคลียร์ทางข้างหน้า ซึ่งจากนี้ไปเราจะต้องพบกับผู้คนมากขึ้นในภาคชุมชนภายใต้อิทธิพลการเมืองของผู้ผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่เป็นผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาล
“เดินทางครับพี่”
นริศแสดงตัวเป็นผู้ประสานงานหลักของการเดินทางตามที่เขาวางแผนกันมาอย่างเป็นทางการ เราจะไปกินข้าวกลางวันต่อเขาชนกันเลย ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง
ผมโพสต์เฟซบุ๊กบอกกล่าวข่าวสารตามที่วางแผนไว้ได้ตามสมควร ระหว่างทางมีเคเบิ้ลทีวีของนครสวรรค์ ตามถ่ายอยู่เป็นระยะ เมื่อเดินออกมา ผมพบกับรถของบอมบ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิสืบรออยู่แล้วพร้อมเพื่อนช่างภาพมืออาชีพที่มาพร้อมอุปกรณ์ครบครันดักถ่ายหน้าหลังขบวนเราอยู่ เมื่อเดินพ้นย่านชุมชน
กิ่วเขาชนกัน อยู่เบื้องหน้าห่างออกไปหลายกิโลเมตร เป็นภูมิทัศน์ที่บอกทิศทางการเดินทางของเรา มอเตอร์ไซต์สาวสวย ขับสวนเราไปใกล้ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เลย์ วกกลับมาจอดรถยกกล้องขึ้นถ่ายรูปและก็บอกกล่าวกันตรงๆ ว่า เป็นเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหัวหน้าใช้ให้มาถ่ายรูปไปรายงาน เราก็ไม่รู้ว่าจะรายงานใคร แต่เมื่อถ่ายรูปพวกเราเสร็จแล้ว สาวๆ กลุ่มนี้ก็ขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับพวกเรา ก่อนจากไปเธอเผลอบอกพวกเราโดยเฉพาะหนุ่มๆ ที่เพิ่งมาสมทบแบบเขินๆ ว่า
“โชคดี ขอให้สำเร็จนะพี่”
แน่นอนว่าสิ้นเสียงมอเตอร์ไซต์ พวกเราก็หวีดวิ้ว เสียงดังลั่น
“ลางดี ลางดี”
ไอเดียจากสาวๆ ที่ขอถ่ายรูปพวกเรา ทำให้ผมคิดอะไรได้บางอย่างนอกจากจะบันทึกภาพภูมิประเทศและอธิบายวิชาการอย่างที่ตั้งใจผ่านการสื่อสารด้วยเฟซบุ๊ก ผมต้องบันทึกภาพผู้ร่วมทางเอาไว้ด้วย
แน่นอนว่า ภาพหนุ่มนักอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ผู้กล้าคณะแรกที่โบกรถมาร่วมขบวนกับเราถูกบันทึกไว้หน้าป้ายงานชกมวยไทยในงานวัดแห่งหนึ่ง เป็นโพสต์ที่พวกเขาทำท่าการ์ดมวย บนหน้าตาที่บอกใครก็ได้ว่างานนี้มาเพื่อ ‘สู้’ จริงๆ
ความเฮฮากับบรรยากาศสดชื่น ค่อยๆ เงียบลงพร้อมเมฆฝนที่หายไป แดดสายๆ หลังเขาชนกันนี่เริ่มทำหน้าที่ วิทยุสื่อสารของนริศ ที่ออกเดินคุมขบวนหลังจากออกจากชุมชน แจ้งจากขบวนล่วงหน้าของเราว่ามีรถปิกอัพหลายคันวนไปเวียนมา นริศสั่งการให้สังเกต และขับวนดูอยู่แถวนั้นก่อน
และในที่สุดเราก็พบกับแนวหน้าของฝ่ายโน้น ที่แสดงตัวอยู่ฟากถนนตรงข้าม เมื่อเขาจอดรถรอเราอยู่เป็นผู้ชายเดินลงมาคนเดียว
“คุณไม่เอาเขื่อนใช่ไหม? ผมจะเอาเขื่อน”
ผมจำได้ว่าเขาพูดทำนองนั้นพลางจ้องถมึงมาหาคณะเรา
ผมทำท่าอยากเดินไปพูดคุยกับเขา แต่นริศห้ามไว้ ผมเลยเพียงแค่บอกเขาว่า “ขอบคุณครับ”
ระหว่างเดินจากมา เขาคงพูดอะไรหลายอย่างเป็นทำนองว่า ทำไมไม่เห็นความสำคัญของคน เห็นป่าสำคัญกว่าอะไรทำนองนี้ แต่จากนั้น ขบวนหน้าของเราก็รายงานผ่านวิทยุสื่อสารมาว่า
“กำนันโตมาดักรออยู่สี่แยกเขาชนกัน”
เราสอบถามจำนวนคน ก็พบว่ามาไม่กี่คน และแจ้งความประสงค์ว่าอยากจะคุยด้วย และขอเลี้ยงกาแฟผมบอกกับนริศว่า ตกลง เพราะผมเจอกับแกนนำคนเอาเขื่อนผู้อาวุโสนี้หลายครั้งแล้ว เจอกันแต่ละครั้งก็มีอัธยาศัยใจคอดี พูดกันฉันมิตรมาตลอดแม้จะไม่มีอะไรเข้าใจตรงกันเลยก็ตาม ดังนั้นคุยกันดีดีจะเป็นอะไรไป
ร่วมรักษาป่าใหญ่และสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร