เช้าวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2566 ‘พี่เอี้ยว’ หอบร่างกายผอมบาง ที่ผ่านอาการบาดเจ็บเพิ่งออกจากโรงพยาบาลมาออกกำลังกายที่ปั๊มน้ำมันเล็กๆ ร่วมกับพวกเรา
จากวัดอินกัลยาบางปะหันก่อนข้ามแม่น้ำลพบุรี ผมคุยกับพี่เอี้ยวถึงอาการบาดเจ็บเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ได้รับคำตอบที่พอคาดเดาได้ว่าเดินไหว คงไม่เป็นไร
คืนนี้ผมกระหยิ่มยิ้มย่องที่น่าจะได้มีโอกาสฟังเพลงสดๆ จากพี่เอี้ยวอีกครั้ง เห็นหน้าแกแล้วก็นึกถึงแต่ประโยคในเพลงแมลงสาบกับนกในกรงทอง ที่ว่า “มีปีกขยับหลีกหนีฟ้า ขุนเขายังโอบรับตะวันรอน ข้ามีชีวิตพเนจร ดีกว่ายอมถูกต้อนเข้ากรง” ที่พี่เอี้ยวร้องตะโกนอยู่ในยุคขบถแสวงหารุ่นผม
ดูเหมือนผมใช้ปีกขบถแมลงสาบนั้นขยับบินมาถึงที่นี้เชียวหรือ ทำไมแรงกระพือพัดของเพลงนี้มันช่างแรงเหลือเกิน
ผมมีโอกาสโพสต์เล่าความรู้สึกถึงแม่ ถึงครอบครัว ที่ไม่มีโอกาสเจอกันบ่อยนัก โพสต์ถึงแม่น้ำลพบุรีที่ไหลมาจากอำเภอมหาราชผ่านอำเภอบางปะหัน เป็นสายธารเล็กๆ ผ่านทุ่งข้าวอยุธยาที่เอ่อล้นเชื่อมต่อไปถึงแม่น้ำป่าสัก ที่พ่อกับแม่ย้ายถิ่นฐานไปให้ผมเกิดที่นั่น ก่อนย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง ขยับไปที่แม่น้ำสามสายไหลรวมกัน แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา
วันนี้บ้านผมที่ปากเกร็ดอยู่ไม่ไกลนักจากริมฝั่งเจ้าพระยานนทบุรี ที่ซึ่งไม่สามารถแยกหยดน้ำของ ‘แม่เรวา’ ออกมาได้
สะพานข้ามแม่น้ำลพบุรี สะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก ชวนให้ผมดิ่งลึกถึงวัยเด็กที่เติบโตอยู่แถวนี้
ทุ่งข้าวที่ชาวนาปลูกข้าวพันธ์ุไม่กลัวน้ำ บ้านเรือนใต้ถุนสูงที่รอเวลาน้ำท่วมน้ำหลาก เพื่อจับปลาทำปลาร้าปลาเค็มเอาไว้ขายเอาไว้กิน
ต้นตระกูลของพ่อผมโตมากับการจับปลาในหนอง ที่สมัยนั้นเรียกว่าทะเลมหาราช ในช่วงที่น้ำหลากปลาขึ้นมาวางไข่ จับปลาเหมือนได้สัมปทานดักทั้งทุ่งส่งขายเลี้ยงคนไปแค่ไหนก็ไม่รู้
ตอนผมโตขึ้นพ่อกับแม่ได้เลิกทำบาป เลิกฆ่าสัตว์ เลิกตกปลาไปนานนมแล้ว แต่ผมแอบไปตกปลากับเพื่อนรุ่นพี่ที่แม่น้ำป่าสักได้มาตัวหนึ่งก็ถูกพ่อดุและบังคับให้ไปปล่อย
อย่าว่าแต่ช่วงที่ผมเห็นทุ่งที่เกิดมาเป็นเด็กโต สภาพน้ำหลากมันก็เปลี่ยนไปเกือบหมดแล้วจากการบริหารจัดการโดยเขื่อนเจ้าพระยา แต่ยังดีที่ตลอดช่วงวัยเด็กผมเจอน้ำท่วมมาจนโตเป็นหนุ่มหลายครั้ง มีโอกาสดำผุดดำว่าย รู้จักเชิงลึกกับน้ำท่วมทุ่งด้วยร่างกายที่ผ่านวันเวลาวัยเยาว์ของตัวเอง น้ำท่วมกับผมจริงแล้วเป็นความรู้สึกของเพื่อนมิตรมากกว่าจะเป็นอุทกภัยพิบัติแต่อย่างใด
เราตั้งใจจะเดินไปเรื่อยๆ ให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราได้ที่พักที่วิทยาลัยเกษตรหันตรา ที่อยู่ใกล้ๆ ตรงนี้แล้ว เดินอีกไม่นานเราจะเดินผ่านเมืองอยุธยาที่ผมเติบโต ผ่านทุ่งวังน้อยที่กลายมาเป็นนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ เดาว่าจะเดินถึงบางปะอิน แล้วจึงค่อยย้อนกลับมานอนที่วิทยาลัยเกษตรซึ่งมีผู้ประสานงานชื่อคุณหน่อง นักวิชาการหัวใจกวีเชื้อเชิญให้ไปนอน
เดินผ่านแผ่นดินถิ่นเกิดมีหรือจะไม่เจอมิตรสหาย เพื่อนฝูงที่รู้ข่าวและไม่ได้พบกันมานานนับสิบปีต่างทยอยมาดักเจอ เชื่อว่าเพื่อนกันที่ไม่เจอมาเป็นสิบปีอาจจะไม่มีโอกาสพบกันหากผมไม่กลับบ้านด้วยวิธีเดินเป็นคนบ้าเหมือนอย่างวันนี้
ถึงเวลาพักกลางวันอาจารย์ธงชัย พรสวัสดิ์ ยังอยู่กับเรา และได้มีโอกาสพูดข้อคิดดีๆ แก่เรามากมาย นั่นช่วยสร้างความมั่นใจที่ยืนยันได้ว่า “เรามาไม่ผิดทาง”
ยิ่งเข้าใกล้กรุงเทพฯ ผู้หลักผู้ใหญ่มิตรสหายต่างมาเยี่ยมเยือนคับคั่ง พี่หาญนรงค์ กลับมาร่วมเดินใหม่หลังจากที่หายไปหลายวัน คราวนี้มาพร้อมกับพี่ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านโลกร้อนคนดัง พี่ทั้งสองมาดักรอที่บางปะอิน
นักข่าวไทยพีบีเอสทำหน้าที่ของเขา นั่นคือการเผยแพร่ภาพแผลที่เท้าของผมไปทั่วประเทศ จนเมื่อคืนได้รับน้ำใจเป็นพลาสเตอร์อย่างดีจากหมอโรงพยาบาลสมิติเวช ที่พอเห็นภาพในทีวีก็ขับรถบึ่งมาให้ตอนกลางดึก นั่นต่างกับพี่สาวของผมที่เป็นหมอเช่นกัน แต่เธอทำอะไรไม่ได้มากกว่าโทรมาร้องไห้ และพยายามขอร้องให้หยุดเดินได้แล้ว พร้อมคำถามที่ว่า “ทำไมไม่ให้คนอื่นเดินต่อ?”
ผมไม่ได้ทำอะไรนอกจากตัดโทรศัพท์ทิ้งไป บางทีคุยกับญาติก็ยากที่จะทำความเข้าใจมากกว่าคนที่ไม่รู้จักกัน เวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำ
วันนี้คณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรต้นสังกัดการทำงานของผมต่างพากันมาเยี่ยมเยียนหลายคน
วันนั้นเราเดินไม่ไกลนัก อาจจะเป็นวันที่เดินใกล้ที่สุดก็ว่าได้ พวกเรารีบกลับไปร่วมเวทีที่อาจารย์หน่องจัดไว้ที่วิทยาลัยเกษตรหันตรา
ผมเข้าใจความปรารถนาดีของทุกคนที่อยากจะมาร่วมจัดงาน ให้ผมได้พูดได้คุย เพียงแต่บางครั้งผมก็ไม่สามารถตอบสนองทุกคนได้ นอกจากแผลที่เท้าแล้ว ข้อเท้าข้อเข่าที่ทำงานหนักต่อกันมาหลายวัน เปลี่ยนสภาพจากแข็งแรงเข้าที่เข้าทางเป็นเสื่อมทรุดบาดเจ็บอีกครั้งเมื่อถึงจุดพักแต่ละจุด
ความรู้เรื่องยา เรื่องการปฐมพยาบาลมีอยู่เท่าไหร่ก็พยายามรักษาตัวเองโดยไม่ได้บอกใคร และที่สำคัญคือตอนนี้สมาธิหรือเรี่ยวแรงส่วนใหญ่ของผมครุ่นคิดแต่เรื่องงานที่กรุงเทพฯ ในอีกสามวันข้างหน้า และประเด็นการตอบคำถามของสื่อมวลชนซ้ำๆ ซากๆ
บางสื่อก็ไม่ได้ทำการบ้านมา ทำให้ผมอดทนอย่างยิ่งในการพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ รอบที่เท่าไหร่ไม่รู้ แม้ปวารนาตัวเองไว้แล้วว่าจะเก็บอารมณ์เพื่อทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่ความอดทนของคนคนหนึ่งจะทำได้ แต่ก็เหนื่อยใจเต็มที
การตอบโต้คุยในเฟซบุ๊กทำหน้าที่ของมันไปด้วยดี เพราะเราเลือกเวลาจัดการมันได้ แต่การจู่โจมจากเสียงโทรศัพท์โดยกระทันหันเริ่มสร้างความหวาดผวาให้ผม
เรื่องนี้ผมให้ใครช่วยไม่ได้ ทุกคนต่างทำหน้าที่ของเขาเต็มที่แล้ว เหลืองานแต่ที่เบื้องหน้าผมที่ต้องใช้ความอดทนผ่านมันไป
ก็นี่ไม่ใช่หรือคือความต้องการของเรากับการสื่อสารในสังคม จนต้องเดินทางมาเรียกร้องอะไรขนาดนี้
ในวันนั้นผมเข้าใจดีแล้วถึงความเหนื่อยยากของบุคคลสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดารา นักกีฬาคนดัง หรือนายกรัฐมนตรี เขาเก่งจริงๆ ที่ผ่านเรื่องแบบนี้กันไปได้
ผมไม่มีทางเลือกอื่นใด ที่ต้องหลบออกจากเครื่องขยายเสียงที่ก้องในอาคารพละศึกษาขนาดใหญ่ที่ใช้จัดงาน เดินหลบออกมาหาที่โทรศัพท์ที่มีเข้ามาติดต่อกันกี่สายไม่รู้กี่สายต่อกี่สาย จนกระทั่งพลาดการฟังเพลงจากพี่เอี้ยวและไม่ได้ร่ำลากันเมื่อแกจากไป คืนนั้นมอบหมายให้ตู่ ตะวันฉายไปคุยเรื่องเขื่อนแม่วงก์กับเด็กวิทยาลัยเกษตรสองสามร้อยคนแทน
คืนนั้นจำได้ว่ามีน้องที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งหนึ่งในป่าตะวันตกของเราแถวเมืองกาญจน์เอาเครื่องดื่มที่ผมชอบมาฝาก และประกาศตัวว่าวันนี้ผมลาราชการมา ดังนั้นมาสนับสนุนอาจารย์ได้ แกกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
จากนั้น หมอภู่ แสงอุษา เพื่อนเก่าที่อยุธยาก็เอาไอศกรีมมาฝาก และผมรอสัมภาษณ์เชิงลึกกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่นัดหมายและหลงทางกว่าจะมาถึงก็ดึกดื่น และเขาต้องการประเด็นต่างๆ ในรายละเอียดมากมายทีเดียว
จนในที่สุดผมก็ผ่านค่ำคืนที่เหนื่อยล้านี้ไปได้
สิ่งแรกที่ผมทำเมื่อเดินเข้าวัดอินคือเดินไปกราบสมภารแอ๊ด
บ้านญาติทางแม่ของผมเกิดและโตที่ละแวกวัดนี้ ส่วนผมไปเกิดและโตอีกอำเภอหนึ่ง ความสัมพันธ์ของผมกับวัดนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนอายุเก้าขวบ แม่เคยให้มาบวชเณรอยู่กับหลวงตาเยื้อนสมภารวัดอินในครั้งโน้น คนที่ดูแลเณรน้อยในขณะนั้นเป็นพระหนุ่มชื่อหลวงพี่แอ๊ด
หลวงพี่เลื่อนฐานะเป็นสมภารแอ๊ดในวันนี้ หลังผ่านมากว่าสามสิบปี
ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ ผมยังต้องมาพึ่งหลวงพี่แอ๊ดเพื่อขออาศัยวัดนอนอีกครั้งหนึ่ง
หลังกราบท่านผมมาถอดรองเท้ารักษาแผลกลางเท้าอยู่ที่ศาลาเล็กๆ
หลังจากไทยพีบีเอส โดยพิธีกรสาวคนดังเรื่องน้ำท่วมที่ชื่อดารินมาขอถ่ายสภาพฝ่าเท้ารองเท้าไปให้คนทั่วประเทศได้เห็น ชายคนหนึ่งเดินเข้ามานั่งทักทายบอกว่า “วันนี้เป็นวันเกิดผม ผมอยู่ที่ไร่ดอกเหงื่อ มีคนมากินเหล้าด้วยมาก ผมไม่อยากกิน มาขอเดินกับอาจารย์ดีกว่า”
ชายวัยหกสิบคนนั้นคือ ‘น้าหมู’ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ แกรู้ว่าผมเป็นแฟนเพลงที่เข้าขั้นเป็นแฟนพันธ์ุแท้ แสดงตัวว่าเคยฟังผมจัดรายการเล่าประวัติเพลงของแกทั้งหมด
แน่นอนว่าบ่ายวันนั้นย่อมเป็นบ่ายพิเศษที่ขวัญใจตัวจริงของผมมาให้กำลังใจขนาดนี้ อย่างพี่หงาคาราวาน ผมสนิทสนมเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว แต่กับน้าหมู พงษ์เทพ ผมไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เมื่อกวีศรีชาวไร่มาเยือน ถึงถิ่นฐานบ้านเกิดผม มันเป็นความตื้นตันใจสุดๆ จริงๆ
ผมไม่รู้ว่าน้าหมูหายไปกับสายฝนตอนไหน เพราะพอเริ่มออกเดินช่วงเย็น จากแดดร้อนเปรี้ยง ฝนก็ตกใหญ่อย่างไม่มีวี่แววมาก่อน
เราเดินทำระยะไปอีกเกือบสิบกิโลเมตร แล้วย้อนกลับมาพักที่วัดอินกัลยา นอกจากน้าหมูแล้ว ผมยังได้พบกับ ‘พี่เอี้ยว ณ ปานนั้น’ หรือชัยพร นามประทีบ ศิลปินเพลงใต้ดินที่ร้องเพลงเปิดหมวกข้างถนน ผู้เป็นอิทธิพลด้านการแสวงหาและแรงบัลดาลใจให้กับนักกิจกรรม นักแสวงหาในยุคผม
ผมทราบข่าวมาว่า พี่เอี้ยวพึ่งประสบอุบัติเหตุตกบันไดจนต้องเข้า โรงพยาบาลเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ผมตามข่าวการรักษาตัวของพี่เอี้ยวมาตลอดทางเฟซบุ๊คเห็นว่ายังไม่หายดี และเราก็ไม่ได้พบกันมาหลายปี
เมื่อผมเห็นพี่เอี้ยวมาย่อมต้องดีใจ แม้ยังเป็นห่วงสุขภาพว่ามาเดินกับเราได้แค่ไหน
ณ วันนี้ที่วัดอินกัลยา นอกจากผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจหลายคนมาเติมพลังให้ถึงวัดที่เคยบวชเคยเรียน ผมยังเหลือแขกสำคัญอีกชุดหนึ่งที่นัดว่าจะมาแต่ยังมาไม่ถึง
แม่ของผม ซึ่งปีนี้อายุย่างแปดสิบแปดปี
แม่มาถึงเมื่อค่ำแล้วขณะที่เรามีวงเสวนา
เมื่อพบกันแม่มีสายตาไม่สบายใจกับสภาพของผมนัก
แต่แม่ก็ยังเป็นแม่ผู้เข้มแข็งห้ผมกราบขอพลัง ขอพรให้เราเดินถึงจุดหมาย และก็กลับไป
ร่วมรักษาป่าใหญ่และสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร