การก่อตั้ง


การจากไปของสืบ นาคะเสถียร ได้ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้เพราะว่าในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ สืบ มิได้เป็นเพียงข้าราชการอาชีพที่มีภาระการงานเกี่ยวกับการพิทักษ์ป่า และสัตว์ป่าเท่านั้น หากเป็นบุคคลสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทยเป็นผู้ที่เคย ต่อสู้เพื่อปกป้อง รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือสัตว์ป่า โดยไม่คำนึงถึงภัยอันตรายใด ๆ

การจากไปของเขา นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นความสูญเสียที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติ ทุกคนไม่อาจปล่อยให้ผ่านพ้นไปได้ โดยปราศจากความทรงจำ

สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2492 ที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ในวัยเด็กสืบมีบุคลิกภาพคือเมื่อสนใจหรือตั้งใจจะทำอะไรแล้วก็จะมีความมุ่ง มั่น ตั้งใจทำจริงจัง จนประสบความสำเร็จ และเป็นผู้มี ผลการเรียนดีมาโดยตลอด จบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเริ่มชีวิตข้าราชการกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ.2518 สังกัดกองอนุรักษ์สัตว์ป่า

ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเท่านั้น เขาตัดสินใจเลือกหน่วยงานนี้ เพราะต้องการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากกว่างานที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ ป่าไม้โดยตรง สืบเริ่มงานครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี จุดเริ่มต้นนี้นี่เอง ที่ผลักดันให้สืบ ต้องเข้าไปทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมายอย่างเลี่ยงไม่พ้น ที่นี่เขาได้จับกุม ผู้บุกรุกทำลายป่าโดยไม่เกรงอิทธิพล ใด ๆ และเริ่มเรียนรู้ว่าการเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ซื่อสัตว์นั้น เจ็บปวดเพียงไหน สืบทำงานอยู่ 3-4 ปี ก็ได้รับทุนไปเรียนระดับปริญญาโท สาขาอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนจากนั้นกลับมารับตำแหน่ง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จนกระทั่งขอย้ายตัวเองเข้ามาเป็นนักวิชาการกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว

“ผมหันมาสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะวิ่งไปจับคนเพราะรู้ว่าจับได้แต่คนตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ ๆจับไม่ได้ก็เลยอึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นมันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่า เราไม่ยุติธรรมเรารังแกชาวบ้าน”

ในระยะนี้ สืบได้ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าออกมามากมายตั้งแต่การสำรวจติดตามชนิด และพฤติกรรมการทำรังของนก สำรวจแหล่งอาศัยของกวางผาค้นหาและศึกษาพฤติกรรมของเลียงผา มาจนถึงการสำรวจศึกษาสภาพทางนิเวศของป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวร งานวิจัยเหล่านี้ ทำให้เขาเริ่มผูกพันกับสัตว์ป่าที่ ตกค้างในอ่างเก็บน้ำซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี สืบได้ทุ่มเททุกเวลานาที ให้กับการกู้ชีวิตสัตว์ป่าที่หนีภัยน้ำท่วมโดย ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองเลย

จากการทำงานชิ้นดังกล่าว สืบ นาคะเสถียร เริ่มเข้าใจปัญหาทั้งหมดอย่างถ่องแท้ เขาตระหนักว่าลำพังงานวิชาการเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจหยุดยั้งกระแสการทำลายป่าและสัตว์ป่า อันเป็นปัญหาระดับชาติได้ ดังนั้น เมื่อมีกรณีรัฐบาลจะสร้างเขื่อนน้ำโจนในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร

สืบจึงโถมตัวเข้าคัดค้านเต็มที่ เขารีบเร่งทำรายงานผลการอพยพสัตว์ป่าจากเขื่อนเชี่ยวหลาน เพื่อบอกทุกคนให้รู้ว่า การช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ถูกทำลายถิ่นที่อยู่นั้น เป็นเรื่องที่เกือบจะไร้ผลโดยสิ้นเชิง

สืบยืนยันว่าการสร้างเขื่อนได้ทำลายล้างเผ่าพันธุ์ แหล่งอาหาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง และกว้างขวางเกินไป กระทั่งความช่วยเหลือจากมนุษย์ไม่สามารถชดเชยได้ โดยการรวมพลังของกลุ่มนักอนุรักษ์ต่าง ๆ ในที่สุดโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนก็ได้ถูกระงับไป

ทว่าสืบ นาคะเสถียร ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น กรณีน้ำโจนได้กลายเป็นบทเริ่มต้น ความพยายามของเขาในการที่จะเสนอให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและป่าห้วยขาแข้ง มีฐานะเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกโดยได้รับการยกย่องอย่างเป็นทางการจาก องค์การสหประชาชาติ สืบเล็งเห็นว่า ฐานะดังกล่าวจะเป็นหลักประกันสำคัญที่คอยคุ้มครองป่าผืนนี้เอาไว้อย่างถาวร

ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก ที่ประเทศอังกฤษ พร้อม ๆ กับได้รับมอบหมาย ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญมาก ไม่แพ้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และในที่สุดสืบก็ตัดสินใจเดินทางเข้ารับตำแหน่งหัวหน้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แม้จะรู้ดีว่าหนทางข้างหน้า เต็มไปด้วยความยากลำบากนานัปการ

ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมไปด้วยพรรณไม้ และสัตว์ป่าอันล้ำค่าทำให้หลายฝ่ายต่างก็จ้องบุกรุกทำลาย เพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง

ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปรับงานเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้ให้ได้อย่างชัดแจ้ง เขาได้ประชุมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าห้วยขาแข้งทั้งหมด และได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า

“ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน”

สืบ นาคะเสถียร พยายามปกป้องป่าห้วยขาแข้งอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการบุกรุกของกลุ่มที่ แสวงหาผลประโยชน์ได้ การดูแลผืนป่าขนาดหนึ่งล้านไร่ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ตกอยู่บนบ่าของเขา มันทั้งกัดกร่อน บั่นทอนและสร้างความตึงเครียดให้กับสืบอยู่ตลอดเวลา

สืบค้นพบว่า ปัญหาสำคัญของห้วยขาแข้งเกิดจากความยากจน ที่ดำรงอยู่โดยรอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ทำให้กลุ่มผลประโยชน์และผู้มีอิทธิพลสามารถยืมมือชาวบ้านในเขตป่าสงวน เข้ามาตัดไม้และลักลอบล่าสัตว์ ในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างต่อเนื่อง ในทรรศนะของเขา หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการ สร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา จากนั้นก็อพยพราษฎรออกนอกแนวกันชนและพัฒนาแนวกันชน ให้เป็นชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปหาประโยชน์ได้

อย่างไรก็ตาม สืบไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเข้าไปจัดการเรื่องนี้ให้ปรากฎเป็นจริง ดังนั้นเขาจึงได้ พยายามประสานงานกับผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจฟัง ปล่อยให้สืบต้องดูแลป่าห้วยขาแข้งไปตามยถากรรม ด้วยความเหนื่อยล้า ความผิดหวัง และความคับแค้นใจ สืบ นาคะเสถียรตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการสั่งเสีย ลูกน้องคนสนิท และเขียนจดหมายสั่งลา 6 ฉบับแล้วสวดมนต์ไหว้พระจนจิตใจสงบ ขณะที่ฟ้ามืดกำลัง เปิดม่านรับวันใหม่เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติด้วยกาย วาจา และใจ

ต่อหน้าเปลวเพลิงที่พาร่างของสืบไปสู่นิรภพอันถาวรเพื่อนพ้องนักอนุรักษ์ ธรรมชาติ ต่างเห็นความจำเป็น ที่จะต้องรักษาอุดมคติของเขาให้คงอยู่ต่อไป

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งขึ้นสิบวัน หลังวันพระราชทานเพลิงศพ คือวันที่ 18 กันยายน 2533 คณะกรรมการ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ แต่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ตรงกับสืบ เมื่อเริ่มก่อตั้ง มูลนิธิฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วน พระองค์จำนวนสองล้านสี่แสนสี่หมื่นแปดพันห้าร้อยสี่สิบบาท เป็นกองทุนประเดิมต่อกองทุนของมูลนิธิฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้อีกหนึ่งแสนบาท

พระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณนี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ จักน้อมรำลึกไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดไป นอกจากนั้นแล้วบรรดาญาติ และมิตรรวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาและตระหนัก ถึงความจริงใจในการเสียสละของคุณสืบ ได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ในโอกาสที่คณะรัฐบาล โดย ฯพณฯพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นประธานจัดงานรณรงค์หาทุนให้กับมูลนิธิฯ และเมื่อรวมกับความช่วยเหลือในการระดมทุนทางสื่อมวลชนต่างๆ แล้ว ทำให้มูลนิธิฯ มีทุนประเดิมเริ่มก่อตั้งประมาณ 16.5 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำเพียงดอกผลมาใช้ดำเนินกิจกรรมเท่านั้น กล่าวได้อย่างภาคภูมิว่า ความคิดในการอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่านั้นเป็นของประชาชนทุกกลุ่ม คณะกรรมการมูลนิธิ เป็นเพียงคณะบุคคลที่ทำหน้าที่สานต่อเจตนารมณ์ ของทุกท่านให้บรรลุวัตถุประสงค์เท่านั้น